พระพันปีหลวงและผู้สำเร็จราชการในจักรพรรดิถงจื้อ ของ ซูอันไทเฮา

อย่างไรก็ดี พระนางซูสีซึ่งทรงปรารถนาพระราชอำนาจทางการเมือง ได้ทรงก่อรัฐประหารขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2404 เป็นผลสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของบรรดาเชื้อพระวงศ์และข้าราชการที่จงชังคณะผู้สำเร็จราชการ ส่งผลให้บรรดาผู้สำเร็จราชการฯ ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้องและกล่าวโทษว่าเป็นกบฏ ต้องโทษประหารชีวิต สมเด็จพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์จึงได้ว่าราชการอยู่หลังม่านแทนสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อซึ่งทรงพระเยาว์อยู่

ในประเทศจีนนั้น มักออกพระนามพระนางซูอัน ว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฝั่งตะวันออก" (จีน: 东太后; พินอิน: Dōngtàihòu, ตงไท่โฮ่ว) เพราะทรงประทับอยู่พระราชวังจงฉุยฝั่งตะวันออก (อังกฤษ: Eastern Zhongchiu Palace) และพระนางซูสีว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฝั่งตะวันตก" (จีน: 西太后; พินอิน: Xītàihòu, สีไท่โฮ่ว) เนื่องจากมักประทับยังพระราชวังฉือซิ่วฝั่งตะวันตก (อังกฤษ: Western Chuxiu Palace)

ในต้นพุทธศตวรรษที่ 24 พระนางซูอันและพระพันปีหลวงฉือสี่ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิถงจื้อ ถึงแม้โดยนิตินัย พระนางซูอันจะทรงดำรงอยู่ในพระสถานะสูงกว่าพระนางซูสี แต่ด้วยความที่ไม่ใฝ่พระทัยในการเมือง และทรงพึงพระทัยในความสันโดษมากกว่า ทำให้พระนางซูสีผู้มีพระบุคลิกลักษณะในทางตรงกันข้าม ได้ซึ่งพระราชอำนาจทางการเมืองไว้โดยพฤตินัยแต่เพียงพระองค์เดียว

พระพันปีหลวงฉืออันรงมีบทบาทในทางการเมืองน้อยครั้งมาก และครั้งที่โดดเด่นที่สุดคือใน พ.ศ. 2412 ซึ่ง อันเต๋อไห่ (จีน: 安德海; พินอิน: Āndéhǎi) หัวหน้าขันทีในพระราชสำนัก และคนสนิทของพระพันปีหลวงฉือสี่ ได้เดินทางลงใต้เพื่อไปซื้อหาอาภรณ์ลายมังกรจำนวนหนึ่งสำรับไปจัดทำเป็นเครื่องทรงของพระพันปีหลวงฉือสี่ เมื่อไปถึงมณฑลชานตงกลับแสดงอำนาจบาตรใหญ่โดยอ้างว่าเป็นผู้แทนพระองค์พระพันปีหลวงฉือสี่ และรีดนาทาเร้นเอาทรัพย์สินจากประชาชน ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไป ผู้ว่าราชการมณฑลจึงทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันปีหลวงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสอง พระพันปีหลวงฉืออันเมื่อตรับแล้ว ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้มณฑลจัดการจับกุมและประหารขันทีอันเต๋อไห่โดยไม่ชักช้า ว่ากันว่า การสั่งประหารอันเต๋อไห่นี้ ทำให้พระพันปีหลวงฉือสี่ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง