ความเป็นมา ของ ซ่งฉื่อ

หลิว ปิ่งจง (劉秉忠) และหวัง เอ้อ (王鹗) ขุนนางราชวงศ์ยฺเหวียน ทูลเสนอจักรพรรดิยฺเหวียนชื่อจู่ (元世祖) รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์ยฺเหวียน ให้ประชุมพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1279), ราชวงศ์เหลียว (遼朝; ค.ศ. 907–1125), และราชวงศ์จิน (金朝; ค.ศ. 1115–1234) จักรพรรดิทรงอนุมัติ [1] แต่โครงการค้างคามายาวนาน จนเดือนมีนาคม ค.ศ. 1343 จักรพรรดิยฺเหวียนฮุ่ยจง (元惠宗) รัชกาลที่ 15 และรัชกาลสุดท้ายของราชวงศ์ยฺเหวียน รับสั่งให้เริ่มทำพงศาวดารราชวงศ์ทั้งสามได้ โดยให้ขุนนางดังต่อไปนี้เป็นผู้เขียน คือ ก้ง ชือเต้า (贡师道), เจี๋ย หลู่ (贾鲁), ไท่ ปู้หฺวา (泰不华), ยฺหวี เชฺว (余阙), ยฺหวี เหวินจ้วน (于文传), วั่วยู่หลุนถู (斡玉伦徒), เวย์ ซู่ (危素), และขุนนางอื่นอีก 23 คน กับทั้งให้ขุนนางดังต่อไปนี้เป็นผู้กำกับดูแล คือ Toktogan, จาง ฉี่หยาน (张起岩), เถี่ยมู่เอ๋อร์ ถ่าชื่อ (铁木儿塔识; Temür Daš), หยาง จงตฺวัน (楊宗端), หลี ห่าวเหวิน (李好文), หวัง อี๋ (王沂), โอวหยาง เสฺวียน (欧阳玄), และเฮ่อ เหวย์อี (贺惟一) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1344 Toktogan ลาออกจากหน้าที่ดังกล่าว อาหลู่ถูจึงได้รับแต่งตั้งแทน ถึงแม้จะไม่คุ้นชินกับอักษรจีนก็ตาม[2]

พงศาวดารแล้วเสร็จและเผยแพร่ครั้งแรกในมณฑลเจ้อเจียง (浙江省) ใน ค.ศ. 1346 เป็นปีที่ 6 แห่งรัชกาลจื้อเจิง (至正) ของจักรพรรดิยฺเหวียนฮุ่ยจง