ลักษณะจำเพาะ ของ ดาวกัปไตน์

โดยอาศัยการวัดพารัลแลกซ์ของดาวเทียมวัดการเคลื่อนที่ฮิปปาคอส[1] ดาวกัปไตน์มีระยะห่าง 12.76 ปีแสง (3.91 พาร์เซก) จากโลก[1] เมื่อ 10,800 ปีก่อนดาวกัปไตน์เคลื่อนเข้ามาอยู่ในระยะ 7.00 ปีแสง (2.15 พาร์เซก) จากดวงอาทิตย์ และได้เคลื่อนออกไปนับแต่นั้น[13] มีมวลอยู่ระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของมวลดวงอาทิตย์ แต่มีความเย็นกว่ามากที่อุณหภูมิ 3,500 องศาเคลวิน ทั้งนี้ผู้สังเกตต่างคนให้ระยะการวัดไม่ตรงกัน[6] มีการจัดประเภทดาวฤกษ์ไว้ที่ sdM1[2] ซึ่งแสดงว่าดาวดังกล่าวเป็นดาวแคระย่อยที่มีความสว่างน้อยกว่าดาวในแถบลำดับหลักในชนิดคลื่นรังสีเดียวกับ M1 เมื่ออาศัยการวัดความเป็นโลหะจะพบว่าดาวนี้มีสัดส่วนโลหะอยู่ 14% เทียบกับดวงอาทิตย์[14][15] ดาวกัปไตน์เป็นดาวแปรแสงประเภท BY Draconis และถูกขนานนามในชื่อ VZ Pictoris ซึ่งหมายความว่าความสว่างของดาวอาจเปลี่ยนไปได้ตามกิจกรรมบนสนามแม่เหล็กของดาวฤกษ์ในชั้นโครโมสเฟียร์ รวมถึงการหมุนรอบตัวเอง ทำให้จุดมืดของดาวอยู่ในระยะที่อาจมองเห็นหรือไม่เห็นจากโลก[4]

ดาวกัปไตน์มีลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น มีการเคลื่อนที่เฉพาะสูง[10] วงโคจรถอยหลังจากทางช้างเผือก[6] และเป็นดาวกลดที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด[16] รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวฤกษ์จลนศาสตร์กัปไตน์ที่มีวิถีโคจรในอวกาศร่วมกัน[17] โดยอาศัยการวัดความเป็นโลหะ เชื่อได้ว่าดาวกัปไตน์น่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของโอเมกาคนครึ่งม้า ซึ่งเป็นกระจุกดาวทรงกลมที่น่าจะเป็นเศษเล็กเศษน้อยของดาราจักรแคระที่มารวมกับทางช้างเผือก ในขั้นตอนดังกล่าวดาวในกลุ่มนี้รวมทั้งดาวกัปไตน์น่าจะหลุดออกไปเป็นคลื่นเศษซากของดาราจักร[6][18][19]