ประวัติ ของ ตระกูลจิราธิวัฒน์

ต้นตระกูล

ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ คือ นี่เตียง หรือ เตียง แซ่เจ็ง ชาวจีนจากหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน อพยพมาประเทศไทยชั่วคราวครั้งหนึ่งเป็นเวลาสั้น ๆ เนื่องจากลี้ภัยโจรสลัดที่เข้าปล้นหมู่บ้าน ก่อนจะกลับประเทศจีนหลังเหตุการณ์นั้นสงบลง กระทั่งอพยพเข้ามาประเทศไทยอย่างถาวรพร้อมภรรยาที่ชื่อ หวาน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 โดยมีบุตรชายคนโตที่เกิดในประเทศจีนคือ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (เกิด พ.ศ. 2468 เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ) ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเพราะเห็นว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตาคือนายตงฮั้วและนางด่านตี๋ แซ่หง่าน ที่เดินทางล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 2–3 ปี โดยมาช่วยกิจการร้านขายข้าวสารของพ่อตาที่ชื่อ อั้นฟงเหลา ต้้งอยู่ท่าช้าง วังหน้า

เตียงเริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง เปิดร้านกาแฟและขายของเบ็ดเตล็ดที่บางมด โดยยืมเงินพ่อตาจำนวน 300 บาท ต่อมาย้ายไปอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอบางขุนเทียน ตรงข้ามสถานีรถไฟวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) ส่วนภรรยารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เขาตั้งชื่อร้านว่า "เข่งเส่งหลี" พอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญกับความยากลำบาก หวานผู้เป็นภรรยาเสียชีวิต สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตจึงมาช่วยดูแลธุรกิจ จนในปี พ.ศ. 2493 ครอบครัวของเตียงได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือตั้งชื่อนามสกุลให้ว่า "จิราธิวัฒน์" คำว่า จิระ หมายถึง ยืนนาน อธิ หมายถึง ความยิ่งใหญ่ และ วัฒน์ คือ วัฒนา เมื่อรวมแล้วหมายถึง ตระกูลที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน[4] ต่อมาครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนถึงเกือบ 30 ชีวิต จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอย่างถาวรที่ศาลาแดง พื้นที่ 3 ไร่ ใน เมื่อปี พ.ศ. 2499 เตียงเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2511 สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตจึงรับหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและมรดก

รุ่นที่ 2

รุ่นที่ 2 ที่มี สัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ประกอบด้วยน้องอีก 25 คน คือ สัมฤทธิ์มีน้องที่เกิดจากมารดาเดียวกัน 7 คน ส่วนน้องที่เกิดกับภรรยาคนที่สอง ที่ชื่อ บุญศรี มี 13 คน และน้องที่เกิดจาก วิภา ภรรยาคนที่สาม 5 คน

สัมฤทธิ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย นำหนังสือไปขายยังร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ร้านของเพื่อน ภายหลังเพื่อนเลิกกิจการ สัมฤทธิ์เห็นว่าธุรกิจนี้มีกำไรมากจึงได้ดำเนินธุรกิจนี้ โดยยืมเงินบิดา 2,000 บาท สร้อยคอทองคำของภรรยา (ของขวัญงานแต่ง) และเงินออมส่วนตัวจำนวนหนึ่งนำมาลงทุนธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจนำเข้านิตยสารจากสหรัฐมาขาย ธุรกิจประสบความสำเร็จดี เพราะต้นทุนต่ำและได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและยังไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย สัมฤทธิ์นำผลกำไรมาเสนอแก่บิดาและชักชวนให้มาร่วมทุนด้วย ในปี พ.ศ. 2490 ได้เซ้งห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ ใช้ชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" เป็นอาคาร 1 คูหา จำนวน 2 ชั้น ช่วงแรกเน้นขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศและสินค้าจากสำเพ็ง สัมฤทธิ์ไม่จ้างลูกจ้างมาช่วยงาน และยังดำเนินการเสียภาษีด้วยตัวเอง จากนั้นได้รับน้องชายสองคน คือ วันชัย และสุทธิพร มาช่วยงานหลังโรงเรียนเลิก ต่อมาสัมฤทธิ์นำสินค้าที่ลงโฆษณาในนิตยสารมาขาย อาทิ ถุงเท้า เน็คไท เสื้อกล้าม กระโปรงพลีท และชุดชั้นในสตรี เป็นต้น ขยับขยายสินค้าประเภทใหม่ ๆ และใช้วิธีเป็นตัวแทนจำหน่ายจากสินค้ามีแบรนด์ เช่น เครื่องสำอางเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinsteim) น้ำมันใส่ผมแคร้ปเดอชีน (Crepe de Chine) และเสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นต้น

ต่อมาย้ายร้านไปที่ย่านสุริวงศ์ ริมถนนเจริญกรุง มีขนาด 3 คูหา จนได้เปิดสาขาใหม่ที่วังบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2499 ในชื่อ "ห้างเซ็นทรัล" เป็นครั้งแรกที่นำระบบติดป้ายราคาและไม่มีการต่อราคามาใช้ ต่อมาเปิดสาขาเยาวราชแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และ พ.ศ. 2507 เปิดสาขาใหม่ที่ราชประสงค์ เป็นตึกแถวขนาด 5 คูหา เปิดสาขาต่อมา สาขาสีลม เมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่ถือเป็นห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่มีแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดขาดทุน แต่ได้ทำการตลาดอย่างหนักจนประสบความสำเร็จ และเปิดสาขาต่อมาที่สาขาชิดลม (2516), ลาดหญ้า (2524), ลาดพร้าว (2526), หัวหมาก (2531)[5]

เดือนสิงหาคม 2532 สัมฤทธิ์ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดจึงแต่งตั้งน้องชายคนรอง วันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นประธานคณะกรรมการเครือเซ็นทรัล และจัดองค์กรใหม่โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจผู้บริหารรับผิดชอบโดยตรง 5 กลุ่ม ไดแก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) มีสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) มีสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและค้าส่ง (CMG) มี สุทธิศักดิ์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสุทธิเกียรติเป็นประธาน และกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด มีสุทธิเกียรติเป็นประธานขณะนั้น[6] จนสัมฤทธิ์เสียชีวิตในปี 2535 วันชัยเป็นผู้นำองค์กรคนที่ 3 ในยุคการบริหารของวันชัย ธุรกิจเติบโตไปหลายด้าน เป็นยุคแห่งการขยายกิจการ ทั้งประกอบธุรกิจมอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งค้าปลีก โรงแรม และผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แตกร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ เป็นต้น[2]

รุ่นที่ 3

ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ขยายธุรกิจออกตลาดต่างประเทศ ตามเป้าหมายรับไม้ต่อจากรุ่นที่ 2 ผู้บริหารในรุ่นที่ 3 อาทิ กอบชัย, ทศ, ปริญญ์, เกรียงศักดิ์, พิชัย, ธีรยุทธ, ธีรเดช, ชาติ, อิศเรศ, ธรรม์, วัลยา, ยุวดี ฯลฯ โดยมีทศ จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ จากรุ่นที่ 2 ประธานกรรมการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เอ่ยว่า "ทศเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งเครือ เพราะทำงานในตำแหน่งระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัลมานาน มีความรอบรู้ลึกซึ้งในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นผู้นำที่มีสไตล์การทำงานเชิงรุก"[7] ส่วนชาติ จิราธิวัฒน์ถูกวางตัวให้เป็นอันดับสองของรุ่นที่ 3 ทำหน้าที่บริหารเซ็นทรัล เอ็มบาสซี[8]

ในการบริหารของทศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 9 กลุ่มหลักคือ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (CDG), กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CFG), กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (CHG), กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์, กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (CPN), กลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (CMG), กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท (CHR), กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (CRG) และ กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม (CGVN)[9] ในปี 2560 เซ็นทรัลได้ก้าวสู่ธุรกิจโลกออนไลน์ มีการลงทุนต่อเนื่องด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เปิดตัวธุรกิจเจดี เซ็นทรัล ร่วมทุนกับ เจดี.คอม และเข้าซื้อหุ้นแกร็บ ประเทศไทย บริการการเดินทาง การส่งอาหาร ส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต[10] ในปี พ.ศ. 2562 จะนำเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ธุรกิจที่มีอายุยาวนานกว่า 72 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์[11]

รุ่นที่ 4

รุ่นที่ 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มเข้ามีบทบาททางธุรกิจ ได้มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเปิดตัวทายาทรุ่นที่ 4 จำนวน 9 คน คือ ธาพิดา นรพัลลภ ออมนิ-แชนแนล เมอร์ชั่นไดซิ่ง ไดเร็กเตอร์ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด, จิระศักดิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ เจดีเซ็นทรัล, โชดก พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารสินค้า เจดีเซ็นทรัล, รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด เจดีเซ็นทรัล, อาคาร จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายสินค้า เจดีเซ็นทรัล, ณพัทธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), อธิวัฒน์ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการโปรเจ็กต์พิเศษ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ อธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด[9]

ใกล้เคียง

ตระกูลชินวัตร ตระกูลจิราธิวัฒน์ ตระกูลภาษาขร้า–ไท ตระกูลบุนนาค ตระกูลเจ้าเจ็ดตน ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ตระกูลอักษรพราหมี ตระกูลล่ำซำ ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ตระกูลเกมบอย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ตระกูลจิราธิวัฒน์ http://www.brandage.com/article/7872/GEN-Y http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.wealthythai.com/web/contents/WT19080009... https://marketeeronline.co/archives/115193 https://readthecloud.co/ceo-9/ https://thepeople.co/tos-chirathivat-ceo-central-g... https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/849029 https://www.forbes.com/thailand-billionaires/list/ https://th.hellomagazine.com/hello-list/pachara-ch... https://th.hellomagazine.com/hello-list/thayawat-c...