ประวัติ ของ ตราแผ่นดินของพม่า

นับตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยเป็นต้นมา พม่าได้ใช้รูปนกยูงรำแพนเป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดินมาโดยตลอด รูปดังกล่าวได้ปรากฏในเงินรูปีของพม่าและธงชาติพม่าในสมัยต่างๆ ทั้งในยุคราชวงศ์คองบอง สมัยภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร ธงของรัฐบาลพม่าภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสมัยเป็นเอกราช

หลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2491 ประเทศพม่าได้ใช้รูปตราแผ่นดินอันมีลักษณะคล้ายกับดวงตราที่ปรากฏในปัจจุบัน สำหรับรายละเอียดที่แตกต่างกันประกอบด้วย แพรแถบชื่อประเทศจารึกข้อความว่า "ပြည်ထောင်စု မြန်မာ နိုင်ငံတော" ("สหภาพพม่า") ตำแหน่งบนสุดของดวงตรานั้นมีรูปสิงห์นั่งหน้าตรงอยู่แทนที่รูปดาว ภาพแผนที่ประเทศพม่ากลางดวงตรานั้นบรรจุอยู่ในวงกลมอีกชั้นหนึ่ง ที่ขอบวงกลมนั้นจารึกคาถาพุทธภาษิตเป็นภาษาบาลี ซึ่งยกมาจากธัมมปทัฏฐกถา พุทธวัคควัณณนา คาถาที่ 194 ความว่า "สมคฺคานํ ตโป สุโข" ("သမဂ္ဂါနံ တပေါ သုခေါ") อันหมายถึง "ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำสุขมา"

ในสมัยการปกครองแบบสังคมนิยมของนายพลเน วิน รัฐธรรมนูญของพม่าฉบับ ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ได้บัญญัติภาพตราแผ่นดินใหม่ให้มีลักษณะในเชิงสังคมนิยมมากขึ้น โดยมีการแก้รูปแผนที่ประเทศพม่าให้ซ้อนทับบนรูปล้อเฟืองล้อมรอบด้วยช่อรวงข้าวคู่ และเปลี่ยนรูปสิงห์นั่งที่อยู่บนสุดให้เป็นรูปดาวห้าแฉก[1] ส่วนนามประเทศในแพรแถบล่างสุดได้เปลี่ยนเป็นข้อความ "ပြည်ထောင်စု ဆိုရှယ်လစ်သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော" ("สาธารณรัฐสังคมนิยมพม่า") ข้อความดังกล่าวนี้เมื่อคณะทหารได้ทำรัฐประหารและตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ข้อความ "ဆိုရှယ်လစ်သမ္မတ" ซึ่งหมายถึง "สาธารณรัฐสังคมนิยม" จึงได้ถูกลบออกไป

  • ตราแผ่นดินสมัยราชวงศ์โกนบอง (พ.ศ. 2395 - 2428)
  • รูปนกยูงรำแพนซึ่งปรากฏในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศพม่านับตั้งแต่สมัยราชาธิปไตย
  • ตราแผ่นดินของบริติชพม่า
  • ตราแผ่นดินของสหภาพพม่า (พ.ศ. 2491 - 2517)
  • ตราแผ่นดินของสาธารณรัฐสังคมนิยมพม่า (พ.ศ. 2517 - 2531)
  • ตราแผ่นดินของสหภาพพม่า (พ.ศ. 2531 - 2553)

ใกล้เคียง

ตราแผ่นดินของไทย ตราแผ่นดินของแคนาดา ตราแผ่นดินของเยอรมนี ตราแผ่นดินของลาว ตราแผ่นดินของสเปน ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร ตราแผ่นดินของสวีเดน ตราแผ่นดิน ตราแผ่นดินของมาเลเซีย ตราแผ่นดินของกัมพูชา