ประวัติและที่มาของตรา ของ ตราแผ่นดินของเนเธอร์แลนด์

ตราอาร์มปัจจุบันเป็นตราที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1907 และมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยจากตราเดิมที่ใช้ระหว่างปี ค.ศ. 1815 ถึงปี ค.ศ. 1907 สิงโตทุกตัวสวมพระมหามงกุฎ แต่ต่างจากรุ่นปัจจุบันตรงที่สิงโตประคองข้างหันหน้ามาทางผู้ดูโล่

ตรานี้ได้รับการอนุมัติใช้โดยพระมหากษัตริย์องค์แรกของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์สมเด็จพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 เมื่อขึ้นครองราชย์หลังจากการประชุมแห่งเวียนนาในปี ค.ศ. 1815 ในฐานะพระมหากษัตริย์พระเจ้าวิลเฮล์มก็ทรงนำเอาองค์ประกอบต่างๆ ของตราอาร์มของราชวงศ์ออเรนจ์-นาซอและของอดีตสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ที่ใช้ระหว่างปี ค.ศ. 1581 ถึงปี ค.ศ. 1795 มารวมกัน

จากตราของพระราชวงศ์พระองค์ก็ทรงใช้สีเงิน ลายขีดทอง และสิงโตทองสำหรับราชตระกูลนาซอ ส่วนคำขวัญ “ข้าจะพิทักษ์” เป็นของราชตระกูลออเรนจ์ตั้งแต่ราชรัฐออเรนจ์เข้ามารวมกับราชตระกูลนาซอ องค์ประกอบที่ว่านี้เป็นองค์ประกอบเดียวกับที่ใช้ในตราอาร์มของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ผู้ครองราชบัลลังก์อังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1689 ถึงปี ค.ศ. 1702 ผู้เดิมทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าชายแห่งออเรนจ์ จากตราอาร์มของสาธารณรัฐดัตช์พระเจ้าวิลเฮล์มก็ทรงนำดาบและลูกศรมาใช้ ลูกศรเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดที่ก่อตั้งขึ้นเป็นสาธารณรัฐ

เคานท์แห่งนาซอ

ตราอาร์มของตระกูลนาซอเริ่มใช้กันมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1250 ที่มีด้วยกันสองแบบสำหรับสองสาขาหลักของตระกูล เมื่อพี่น้องสองคนเคานท์วอลแรมที่ 2 และ เคานท์ออตโตที่ 1 ตกลงแบ่งดินแดนของบิดา (เคานท์เฮนรีที่ 2) ระหว่างกันในปี ค.ศ. 1255

พระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ทรงสืบเชื้อสายมาจากเคานท์ออตโต แกรนด์ดยุคแห่งลักเซมเบิร์กทรงสืบเชื้อสายมาจากเคานท์วอลแรม ทั้งสองสายยังคงใช้ “นาซอ” ในตราอาร์ม (ข้อมูลหน้า 105 และ 106 ของ เอกสารเกี่ยวกับราชตระกูลของแกรนด์ดยุคแห่งลักเซมเบิร์ก) ทั้งสองสายต่างก็ไม่มีผู้สืบตระกูลที่เป็นชาย


หมวกเกราะและเครื่องยอดที่ใช้สำหรับผู้สืบตระกูลที่ได้ขึ้นครองราชย์ที่เป็นชาย (และยังคงใช้โดยสมาชิกของตระกูลที่เป็นชาย) มีนิยามว่า:


นิยามของตราอย่างเป็นทางการ
อังกฤษ: On a (ceremonial) helmet, with bars and decoration Or and mantling Azure and Or, issuing from a coronet Or, a pair of wings joined Sable each with an arched bend Argent charged with three leaves of the lime-tree stems upward Vert
ไทย: บนหมวกเกราะ เป็นแถบขวางแคบและตกแต่งด้วยสีทองและแพรประดับสีเงินและสีทองห้อยลงมาจากจุลมงกุฎสีทอง เหนือมงกุฎมีปีกสีดำแต่ละปีกเป็นโค้งทแยงสีเงิน หมายด้วยใบไลม์สามใบสีเขียว
หมายเหตุ: แปลตามศัพท์และหลักไวยากรณ์ของการเขียนนิยามของตรา

เครื่องยอดที่ใช้โดยผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเคานท์ออตโตแตกต่างจากผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเคานท์วอลแรม ในพระราชประกาศของปี ค.ศ. 1815 เครื่องยอดที่มาจากมงกุฎของตราอาร์มของเนเธอร์แลนด์เป็นเครื่องยอดที่ใช้โดยสายวอลแรม แต่ไม่เป็นที่ทราบถึงสาเหตุของการออกพระราชประกาศนี้

เครื่องยอดของสายวอลแรมนิยามว่า “Between two trunks Azure billetty Or a sitting lion Or” (“ระหว่างสองงวงสีเงิน ลายขีดสีทอง สิงห์นั่งสีทอง”) งวงอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเขาวัวสองเขาซึ่งเป็นเครื่องยอดที่นิยมใช้กันในตราอาร์มของเยอรมนี บนตราอาร์มของแกรนด์ดยุคแห่งลักเซมเบิร์ก สิงโตสวมมงกุฎ เล็บและลิ้นสีแดง

ราชรัฐแห่งออเรนจ์

คำขวัญได้รับการนำมาใช้โดยสมาชิกผู้ปกครองทุกคนของนาซอ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งออเรนจ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1530 เมื่อราชวงศ์สองราชวงศ์มารวมตัวกัน เคานท์เฮนรีที่ 3 แห่งนาซอ-เบรดาผู้ที่พำนักอยู่ในกลุ่มประเทศต่ำสมรสกับคลอเดียแห่งเชลอง (Claudia of Châlon) น้องชายของคลอเดียฟิลิแบร์ตแห่งเชลองเป็นเจ้าชายแห่งออเรนจ์องค์สุดท้ายจากตระกูลเชลอง เมื่อฟิลิแบร์ตเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1530 เรอเนบุตรของเฮนรีและคลอเดียก็ได้รับราชรัฐโดยมีข้อแม้ว่าต้องใช้ตำแหน่งและตราอาร์มของตระกูลเชลอง เรอเนจึงได้รับนามว่าเรอเนแห่งเชลอง (René of Châlon) คำขวัญ “ข้าจะพิทักษ์เชลอง” (Je Maintiendrai Châlons) จึงกลายมาเป็นคำขวัญของตระกูล เรอเนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1544 โดยไม่มีผู้สืบตระกูล วิลเลียมแห่งนาซอ-ดิลเลนเบิร์กผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกันจึงได้รับดินแดนของเรอเน วิลเลียมกลายเป็นวิลเลียมแห่งออเรนจ์ หรือในภาษาอังกฤษรู้จักกันว่าวิลเลียมเดอะไซเลนท์ (William the Silent) ผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ออเรนจ์-นาซอ สิ่งแรกที่วิลเลียมทำคือเปลี่ยนคำขวัญเป็น “ข้าจะพิทักษ์นาซอ” (Je Maintiendrai Nassau) ต่อมาวิลเลียมหรือบุตรชายก็ละทิ้งชื่อราชวงศ์ออกจากคำขวัญ

ตราอาร์มของราชรัฐแห่งออเรนจ์ก็มิได้ใช้ในตราอาร์มของราชอาณาจักรแต่เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์ส่วนตัวและธงของสมาชิกหลายคนในราชวงศ์เนเธอร์แลนด์

ใกล้เคียง

ตราแผ่นดินของไทย ตราแผ่นดินของแคนาดา ตราแผ่นดินของเยอรมนี ตราแผ่นดินของลาว ตราแผ่นดินของสวีเดน ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร ตราแผ่นดินของสเปน ตราแผ่นดิน ตราแผ่นดินของญี่ปุ่น ตราแผ่นดินของมาเลเซีย