ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ตัวแทน

ในสังคมไทยนั้น ปัญหาซึ่งกลายเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทั้งปวงคือ การที่ผู้รับมอบอำนาจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทน ไม่ได้ทำหน้าที่ทั้งในมิติที่มีผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (trustee) และมิติที่สะท้อนความต้องการของผู้เลือกตั้ง (delegate) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดกลไกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำหน้าที่ของตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย เข้าประชุมสภา หรือตรวจสอบรัฐบาล ในสังคมไทย ประชาชนน้อยคนและน้อยครั้งที่ใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อลงโทษและควบคุมตัวแทนของตน ทำให้การแข่งขันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไม่สมบูรณ์ และนำไปสู่ภาวะ “ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายาม” (failure of effort) ของตัวแทนไทย ประเด็นเรื่องเจ้าของอำนาจและผู้รับมอบอำนาจในระบบรัฐสภาไม่ใช่เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและตัวแทนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่ประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง ทำให้สมาชิกรัฐสภามีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจ (principal) ลำดับที่สองที่ได้ยินยอมส่งทอดอำนาจบริหารไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ฝ่ายหลังจึงอยู่ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ (agent) จากรัฐสภา ซึ่งเป็นที่มาของหลักการที่ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อ (accountable to) ฝ่ายนิติบัญญัติ (สิริพรรณ, 2552: 403-452)[7]