ตัวแทน

ตัวแทน (agency) เป็นคำที่มีความหมายหลายนัย ขึ้นอยู่กับบริบทของการใช้ โดยในที่นี้จะแยกการพิจารณาเป็น 3 บริบทคือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งคำว่าตัวแทนในทั้ง 3 บริบท มีความหมายร่วมกัน คือ การกระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตัวเราเองไม่สามารถกระทำการนั้นเองได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตัวแทนขึ้นมา และมอบอำนาจให้กระทำกิจกรรมดังกล่าวแทนตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหาร การร่างกฎหมาย การทำสัญญาทางธุรกิจ การจ้างงาน หรือการเป็นตัวแทนของสาธารณะ เป็นต้นในบริบททางการเมือง การเลือกตัวแทนและการมอบอำนาจนั้น เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ตั้งอยู่บนปรัชญาการเมืองว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่เมื่อประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรง ด้วยข้อจำกัดของเวลา ความรู้ ทักษะและอื่น ๆ ประชาชนจึงพร้อมใจกันเลือกผู้แทน (representatives) และ “มอบหมายอำนาจ” ให้ผู้แทนเหล่านั้นตัดสินใจเชิงนโยบายและบริหารประเทศแทนตน ในความสัมพันธ์นี้ ประชาชนจึงเป็นเจ้าของอำนาจ (principal) ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาล เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทน (agent) (Kiewiet and McCubbins, 1991)[1]ในทางทฤษฎี เบิร์ช (Birch, 2007: 134-140)[2] ได้แบ่งตัวแทนออกเป็นประเภทต่าง ๆ บนฐานคิดที่ว่าประชาชนมีเหตุผลในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง จึงได้เลือกผู้แทนที่จะสามารถรักษาผลประโยชน์ของตนได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันผู้แทนก็มีผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งทางการเมืองจึงต้องตอบสนองผลประโยชน์ของตัวเองและผลประโยชน์ของประชาชนที่เลือกตนเข้าสู่ตำแหน่งด้วย ฉะนั้น ในทางการเมือง ตัวแทนจึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน (reciprocity) ระหว่างตัวแทนกับประชาชนในการพิจารณาการเป็นตัวแทนในเชิงโครงสร้าง มีจุดสนใจอยู่ 3 ส่วนคือประชาชนที่เป็นผู้เลือกผู้แทน (people ส่วนที่เป็น voter) ในฐานะที่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้แทนทางการเมือง (political representatives) แต่ผู้แทนดังกล่าวต้องแสดงความเป็นตัวแทนต่อประชาชนทั้งหมด (people ที่เป็นประชาชนโดยรวม the whole) ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้เลือกตั้งที่เลือกตนมาเท่านั้น ความสัมพันธ์ในการเป็นตัวแทนจึงเชื่อมโยงกับบริบทและโครงสร้างมิติต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Vieira and Runciman, 2008: 140-147)[3]ในทางเศรษฐกิจ การศึกษาเรื่องตัวแทนเป็นการวิเคราะห์ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวการและตัวแทน (principal-agent framework) จะอธิบายกิจกรรมของการแทนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวการ (principal) และตัวแทน (agent) ที่สัมพันธ์กันผ่านสัญญาตัวแทน โดยทั่วไปตัวการต้องการตัวแทนที่สามารถทำงานให้แก่ตนได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์ ในขณะที่ตัวแทนก็จะพยายามนำเสนอข้อดีของตัวเองและปกปิดข้อบกพร่องบางประการ เพื่อให้ได้รับเลือกจากตัวการและได้งานทำ ซึ่งทำให้เห็นว่าทั้งตัวการและตัวแทนต่างมีผลประโยชน์เป็นของตัวเองและพยายามให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวในทางสังคม ตัวแทนหมายถึงผู้ทำหน้าที่ในการขัดเกลาทางสังคม (agent of socialization) ในการสร้างความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติ อุดมการณ์ ฯลฯ ไปในทางที่สังคมต้องการและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ ตัวแทนดังกล่าว เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน และโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ ตัวแทนในทางสังคมอาจหมายถึงกลุ่ม NGOs ต่าง ๆ ที่ทำงานในพื้นที่ประชาสังคม โดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนจะแสดงตนว่าเป็นตัวแทนของผลประโยชน์สาธารณะ และคอยทำงานปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าว