ประวัติ ของ ตารีกีปัส

ประเทศอินโดนีเซีย

ตารีกีปัสเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวโกวาในซูลาเวซีใต้ บางครั้งรู้จักกันในชื่อ กีปัสปากาเรอนา (Kipas Pakarena) โดย ปากาเรอนา แปลว่า "เล่น" เชื่อกันว่ามีการร่ายรำมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโกวาในสมัยโบราณ

เชื่อกันว่ากีปัสปากาเรอนาบอกเล่าเรื่องราวของการจากลาของคนบนโบติงลังงี (Boting Langi) คือสวรรค์ กับคนลิโน (Lino) คือคนที่ยังอยู่บนโลก การแสดงนี้แสดงให้เห็นถึงความปราณีตของสตรีโกวาที่มีความนอบน้อมต่อสามี นอกจากนี้การแสดงยังมีกฏให้ทำตาหรี่ ห้ามลืมตามาก และห้ามยกขาสูงเกินไป บวกกับการแสดงชุดนึงมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ผู้แสดงต้องมีความแข็งแรงทางกายมาก[1]

ปัจจุบันตารีกีปัสเป็นหนึ่งในการแสดงของซูลาเวซีใต้ และเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคดังที่พบในมาเลเซีย และไทยทางใต้

ประเทศไทย

การแสดงชุดนี้ได้รับการฟื้นฟูโดยคณะครูโรงเรียนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ควบคุมการฝึกซ้อมโดย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก็ได้ชมการแสดงของรัฐต่าง ๆ หลายชุด เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย ก็ได้เล่าถึงการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ของมาเลเซียที่ได้ไปชมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง และได้ทราบว่าเมืองยะหริ่งเดิมก็เคยมีการแสดงที่คล้ายคลึงกันกับของมาเลเซียหลายชุด ดังนั้นจึงได้คิดฟื้นฟูการแสดงพื้นเมืองชุดต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะชุดตารีกีปัส ได้นำออกแสดงครั้งแรกเนื่องในงานเลี้ยงเกษียณอายุข้าราชการครูโรงเรียนยะหริ่ง ต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแสดงชุดตารีกีปัสไปสู่ประชาชนครั้งแรก โดยเปิดสอนให้กับคณะลูกเสือของจังหวัดปัตตานี เพื่อนำไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นระบำชุดเปิดสนามงานกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ของจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2524 นับว่าการแสดงชุดตารีกีปัสได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศไทยและยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง[2]