การใช้ประโยชน์ ของ ตาว

ผลตาว

น้ำตาลที่ปาดได้จากช่อดอกตัวผู้ ทำเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลเมา และน้ำส้มได้ ในอินเดียปาดเอาน้ำหวานต้นตาวไปทำน้ำตาลเรียก gur และหมักเป็นน้ำส้มสายชู ทางภาคใต้ของไทยนิยมทำน้ำตาลจากต้นตาวเช่นกัน โดยเรียกว่า น้ำตาลฉก[1] ชาวชวาและบาหลีนิยมใช้ใบมุงหลังคา ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รับประทานผลตาวทั้งผลดิบและนำไปเชื่อม

แป้งที่สกัดได้จากลำต้นใช้ทำอาหารเช่นบักโซในอินโดนีเซีย ตัวหนอนของด้วงแรดที่อาศัยในลำต้นนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนรับประทานได้ ดอกมีน้ำหวานใช้เลี้ยงผึ้ง ราก ลำต้นและก้านใบย่อยเป็นส่วนที่ให้เส้นใย ใช้ทำเชือก แปรงทาสี วัสดุเสริมคอนกรีต เยื่อละเอียดบริเวณกาบใบใช้ทำคบไฟและหมันเรือ สายเบ็ด สายแร้วดักนก หรือสานเสื่อ ใบอ่อนรับประทานได้ ก้านใบย่อยทำไม้กวาดและไม้เสียบสะเต๊ะ ใบใช้มวนบุหรี่ มัดสิ่งของ ก้านช่อดอกใช้ทำไม้เท้าได้ เปลือกผลอ่อนมีผลึกออกซาเลต ทำให้คัน ผลดิบตำให้ละเอียดใช้เบื่อปลา รากอ่อนใช้รักษานิ่วในไต รากแก่ใช้แก้ปวดฟัน เยื่อละเอียดในกาบใบใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำตาลที่ได้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย[3]

ภาพวาดต้นตาว

ในประเทศไทยใบตาวใช้มุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ก้านใบทำไม้กวาด เส้นใยของลำต้นใช้ทำแปรง ยอดอ่อนนำมาทำอาหารได้เช่นเดียวกับหน่อไม้ หรือนำไปดองแบบหน่อไม้ดองก็ได้ ผลตาวใช้ทำลูกชิด[4] โดยต้องนำผลตาวไปต้มในน้ำเดือดจนนิ่ม นำมาปาดหัวให้เห็นเนื้อในแล้วบีบเอาลูกตาวข้างในออกมา แล้วนำลูกตาวนี้ไปแช่น้ำ เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ จนเป็นสีขาว นำไปต้ม แล้วแช่น้ำเชื่อมไว้อีก 1 คืน จากนั้น นำไปทำเป็นลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง ลูกชิดอบแห้ง ซึ่งจะนำไปทำขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม หวานเย็น รวมมิตร โดยแหล่งผลิตลูกตาวที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปตาวแห่งเดียวในเขตพื้นที่ภาคเหนือ[5]