พัฒนาการ ของ ตำนานคธูลู

โรเบิร์ต แม็คแนร์ ไพรซ์ ได้แบ่งพัฒนาการของตำนานคธูลูออกเป็นสองช่วงสำคัญ คือช่วงแรกที่เลิฟคราฟท์ยังมีชีวิตอยู่ และ ช่วงที่สองซึ่งออกัสต์ เดอเลธได้จัดระเบียบและขยายขอบเขตออกไปหลังจากที่เลิฟคราฟท์เสียชีวิต[2]

ช่วงแรก

เลิฟคราฟท์ได้หยิบยืมแนวคิดมาจากนักประพันธ์ซึ่งเขาชื่นชอบ เช่น ฮัสเทอร์ ซึ่งเป็นเทพผู้ดีงามในงานประพันธ์ของแอมโบรส เบียร์ซ แต่ถูกเขียนถึงให้ชั่วร้ายขึ้นในงานประพันธ์ของโรเบิร์ต วิลเลียม แคมเบอร์ ก่อนที่เลิฟคราฟท์จะเขียนถึงตามความคิดของตนเอง

ในชีวิตช่วงหลังของเลิฟคราฟท์ จึงได้มีการหยิบยืมสิ่งที่ปรากฏในงานประพันธ์ของนักเขียนกลุ่มเดียวกับเลิฟคราฟท์อย่างมากมาย เลิฟคราฟท์เห็นว่านักประพันธ์แต่ละคนล้วนแต่มีกลุ่มเรื่องของตนเอง และสิ่งที่ปรากฏในงานประพันธ์ของกลุ่มหนึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับอีกกลุ่มหนึ่งเพียงเพราะนักประพันธ์เขียนถึง เช่น คลาก แอชตัน สมิธ ได้เขียนถึงคธูลูในเรื่องชุดไฮเปอร์โบเรียนก็ไม่ได้หมายความว่าคธูลูเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องในกลุ่มไฮเปอร์โบเรียน

สิ่งที่ปรากฏในเรื่องของนักประพันธ์ในกลุ่มเลิฟคราฟท์มักไม่ปรากฏตัวในงานประพันธ์ของผู้อื่นโดยตรง แต่จะกล่าวถึงผ่านตำราต่าง ๆ ในเรื่อง เช่น ในเรื่อง The Children of the Night โรเบิร์ต เออวิน โฮวาร์ด ให้ตัวละครอ่านนีโครโนมิคอน ซึ่งเคยกล่าวถึงในงานของเลิฟคราฟท์ ในขณะที่เรื่อง Out of the Aeons และ The Shadow Out of Time ของเลิฟคราฟท์เองก็กล่าวถึง Unaussprechlichen Kulten จากเรื่องของโฮวาร์ดเช่นกัน

เดวิด อี ชูลทซ์ระบุว่า เลิฟคราฟท์เองตั้งใจจะให้ตำนานเป็นเพียงฉากหลังที่มีไว้ประกอบงานประพันธ์เท่านั้น ไม่ใช่จุดสำคัญของเรื่อง แท้จริงแล้ว สิ่งสำคัญในงานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์ก็คือเมืองอาร์คัม ไม่ใช่คธูลู.[3] แต่เป็นออกัสต์ เดอเลธที่เข้าใจว่าเลิฟคราฟท์ต้องการให้นักประพันธ์เขียนถึงตำนานนี้มากกว่าจะใช้ประกอบงานประพันธ์[4]

ช่วงที่สอง

พัฒนาการระยะที่สองของตำนานคธูลูเริ่มโดยนักประพันธ์ ออกัสต์ เดอเลธ ซึ่งได้เชื่อมโยงธาตุทั้งสี่เข้ากับเทพในตำนานคธูลู เดอเลธยังเป็นผู้เชื่อมโยงเรื่องของเลิฟคราฟท์ ซึ่งเดิมทีสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือเรื่องแฟนตาซีในแบบฉบับของลอร์ดดุนซานี เรื่องชุดเมืองอาร์คัม และเรื่องเกี่ยวกับจักรวาลของคธูลูเข้าเป็นหนึ่งเดียว[5] เดอเลธยังนับว่าทุก ๆ เรื่องที่กล่าวถึงสิ่งที่มาจากตำนานคธูลูล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องชุดตำนานคธูลู ในขณะที่เลิฟคราฟท์เพียงแต่กล่าวถึงหนังสือ Book of Eibon จากงานประพันธ์ของคลาก แอชตัน สมิธเท่านั้น เดอเลธกลับดึงอุบโบ ซาธลาจากงานของสมิธมาใช้โดยตรง ซึ่งการจัดกลุ่มของเดอเลธนี้ทำให้จักรวาลสมมุติของตำนานคธูลูมีขอบเขตกว้างขึ้นอย่างมาก[6] เดอเลธเป็นผู้เผยแพร่งานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์หลังจากที่เลิฟคราฟท์เสียชีวิตไปแล้ว[7] เนื่องจากเลิฟคราฟท์เองเป็นผู้อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์และมักท้อแท้เมื่อผลงานถูกปฏิเสธ[8] จึงกล่าวได้ว่าเดอเลธเป็นผู้ทำให้ตำนานคธูลูเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับสาธารณชน

นอกจากนั้น นักประพันธ์รุ่นหลัง เช่น ลิน คาเตอร์ มักรูปแบบที่เขียนบรรยายถึงรายละเอียดและความสัมพันธ์ของเทพต่าง ๆ ในตำนานคธูลูอย่างละเอียด จึงมีการระบุถึงตัวละคร หนังสือ และสถานที่ต่าง ๆในตำนานคธูลูเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในปีพ.ศ. 2524 บริษัทเคออเซียมได้เผยแพร่เกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhu ซึ่งแบ่งแยกเทพและอสุรกายในเรื่องราวของเลิฟคราฟท์เป็นกลุ่มย่อยๆ คือ เอาเตอร์ก็อด เกรทโอลด์วัน เผ่าพันธุ์ผู้รับใช้ และ เทพอื่น ๆ ข้อมูลของเกมได้รับการยอมรับในจักรวาลสมมุติของตำนานคธูลูในเวลาต่อมา เนื่องจากเคออเซียมได้เผยแพร่เรื่องราวในตำนานคธูลูที่เขียนโดยนักประพันธ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเกมนี้ งานประพันธ์รุ่นหลังในกลุ่มตำนานคธูลูจึงมักมีการระบุถึงสิ่งต่าง ๆในตำนานโดยตรงมากกว่าจะกล่าวถึงในลักษณะของสิ่งลี้ลับเช่นในยุคสมัยของเลิฟคราฟท์