เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์ ของ ตำนานแห่งซิลมาริล

โทลคีนเริ่มต้นงานเขียนนิยายที่ต่อมากลายมาเป็น "ซิลมาริลลิออน" ตั้งแต่ ค.ศ. 1914[1] โดยที่เขาตั้งใจจะให้เป็นตำนานปรัมปราของประเทศอังกฤษ เพื่ออธิบายถึงกำเนิดเรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม[1] เนื้อหาส่วนมากเขียนขึ้นขณะที่โทลคีนพำนักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลังจากถูกส่งตัวกลับจากสมรภูมิแนวหน้าในฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเนื่องจากป่วยเป็นไข้กลับ เขาเขียนนิยายเรื่องแรก คือ การล่มสลายของกอนโดลิน สำเร็จลงในราวปลายปี ค.ศ. 1916[1]

ในตอนนั้นเขาตั้งชื่อให้ชุดงานเขียนของเขาว่า The Book of Lost Tales (ประมวลตำนานอันสาบสูญ) [2] ซึ่งในเวลาต่อมาชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อหนังสือสองเล่มแรกในชุดหนังสือประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ เรื่องราวใน The Book of Lost Tales เป็นเรื่องที่เล่าผ่านนักเดินเรือคนหนึ่งชื่อว่า เอริโอล (ในเวอร์ชันหลัง ๆ ชื่อนี้เปลี่ยนไปเป็น อัลฟ์วีน (Ælfwine) ) ซึ่งล่องเรือไปจนกระทั่งได้พบกับเกาะโทลเอเรสเซอา พวกเอลฟ์ที่บนเกาะนั้นได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพวกเขาให้เอริโอลฟัง อย่างไรก็ดีโทลคีนแต่ง The Book of Lost Tales ยังไม่จบ เขาหันไปแต่งกวีนิพนธ์ชุด "The Lay of Leithian" (ลำนำแห่งเลย์ธิอัน) และ "The Lay of the Children of Húrin" (ตำนานบุตรแห่งฮูริน) แทน[2]

ซิลมาริลลิออนฉบับแรกสุดที่เขียนจบสมบูรณ์เป็น 'โครงร่างปกรณัม' เขียนในปี ค.ศ. 1926[3] โครงร่างปกรณัมนี้มี 28 หน้า เป็นการอธิบายพื้นหลังของตำนานว่าด้วยเรื่องของ ทูริน ทูรัมบาร์ ให้แก่ อาร์.ดับเบิลยู. เรย์โนลด์ เพื่อนคนหนึ่งของโทลคีนที่เขาส่งต้นฉบับหลายเรื่องไปให้ดู[3] จาก 'โครงร่างปกรณัม' นี้ โทลคีนได้พัฒนาปรับปรุงงานเขียนเชิงบรรยายเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุดที่มีชื่อว่า เควนตา โนลโดรินวา ซึ่งเป็นงานเขียน ซิลมาริลลิออน ที่สมบูรณ์ที่สุดของโทลคีน[4]

เมื่อถึง ค.ศ. 1937 โทลคีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการตีพิมพ์ เดอะฮอบบิท เขาจึงส่งต้นฉบับ ซิลมาริลลิออน ที่ได้พัฒนาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปให้สำนักพิมพ์ของเขา คือ สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน แต่สำนักพิมพ์ปฏิเสธการพิมพ์โดยบอกว่าเนื้อเรื่องหม่นหมองเกินไปและยังมีความเป็น "เคลต์" มากเกินไป[5] สำนักพิมพ์ขอให้โทลคีนเขียนภาคต่อของ เดอะฮอบบิท แทน โทลคีนปรับปรุง ซิลมาริลลิออน เพิ่มเติมอีก แต่ไม่นานเขาก็ยอมเขียนภาคต่อของ เดอะฮอบบิท คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่งเป็นงานที่กินเวลาและความสนใจของเขาไปแทบทั้งหมด หลังจากเขียน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ จบ เขาจึงหันมาให้ความสนใจแก้ไข ซิลมาริลลิออน อีกครั้ง[6] โทลคีนปรารถนาอย่างยิ่งจะให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ทั้ง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน เป็นงานเขียนชุดต่อเนื่องกัน[7] แต่สำนักพิมพ์ไม่เห็นด้วย ในที่สุดเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่ได้พิมพ์ ซิลมาริลลิออน โทลคีนจึงหันไปปรับปรุง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ให้สมบูรณ์สำหรับการตีพิมพ์[8]

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 โทลคีนหันมาปรับปรุงงานเขียนชุด ซิลมาริลลิออน อีกครั้ง งานเขียนในคราวนี้โดยมากเป็นเรื่องราวทำนองเทววิทยาและปรัชญาซึ่งเป็นพื้นฐานของเรื่องมากกว่าจะเป็นงานพรรณนาแบบนิยาย ในระหว่างเวลานี้เขามีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดหลักของเนื้อเรื่อง ทำให้เขาย้อนไปปรับปรุงงานเขียนเวอร์ชันแรก ๆ โทลคีนรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไขข้อขัดแย้งบางอย่างเสียก่อนจึงจะเขียนนวนิยายฉบับสมบูรณ์ได้[6] ในช่วงนี้เขาจึงประพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับความชั่วร้ายในอาร์ดา กำเนิดของออร์ค วัฒนธรรมของพวกเอลฟ์ ความหมายเกี่ยวกับการ "เกิดใหม่" ของพวกเอลฟ์ แนวคิดเรื่องโลกแบน และตำนานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์[6] ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ โทลคีนบรรจงแต่งเติมงานประพันธ์ชุดนี้โดยมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งหรือสองเรื่องเท่านั้น[6]

การตีพิมพ์หลังเสียชีวิต

หลังจากโทลคีนเสียชีวิตไปแล้วหลายปี คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายของเขาจึงได้นำงานเขียนร้อยแก้วของ ซิลมาริลลิออน มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ ด้วยความตั้งใจจะใช้บทประพันธ์ชุดล่าที่สุดที่โทลคีนผู้พ่อได้เขียนเอาไว้ แต่คัดเลือกเนื้อหาที่สอดคล้องรับส่งต่อเนื่องกันทั้งภายในเรื่องชุดนี้และสอดคล้องกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ด้วย[9] แม้ว่าตัวเขาเองก็สารภาพเอาไว้ในบทนำของหนังสือว่า การจะทำให้สอดคล้องกันทั้งหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้นำงานเขียนต้นฉบับจำนวนมากมารวบรวมเอาไว้พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมของเขา เพื่อชี้แจงว่าเขาเลือกใช้ต้นฉบับใดมาเป็นชุดเรียบเรียง และเพราะเหตุใด โดยในหนังสือชุดนี้มีต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1917 คือต้นฉบับ Book of Lost Tales ที่เก่าแก่ที่สุด ใน เควนตา ซิลมาริลลิออน บทท้าย ๆ คือเรื่อง "การล่มสลายของโดริอัธ" เป็นต้นฉบับส่วนที่โทลคีนไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเลยตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ดังนั้นคริสโตเฟอร์ จึงต้องเรียบเรียงความเรียงร้อยแก้วจำนวนหนึ่งขึ้นมาใหม่จากต้นฉบับที่กระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ [10] จนกระทั่งได้ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์ทั้งเนื้อเรื่อง ผังตระกูล แผนที่ ดรรชนีคำ รวมถึงรายการชื่อในภาษาเอลฟ์ชุดแรกที่สุดที่เคยจัดทำขึ้น ตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี ค.ศ. 1977

ใกล้เคียง

ตำนาน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำนานเก็นจิ ตำนานวีรบุรุษกาแล็กซี ตำนานไซอิ๋วฉบับเกาหลี ตำนานนางพญางูขาว ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ตำนานเจ้าหญิงไม้ไผ่จากดวงจันทร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี ตำนานแห่งซิลมาริล