บทบาทการชุมนุม ของ ทรงกลด_ชื่นชูผล

หลังจากออกราชการแล้ว อีกหลายปีต่อมาได้รู้จักกับนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่ม พธม. ซึ่งขณะนั้นกำลังชุมนุม 193 วัน อยู่ในกลางปี พ.ศ. 2551 โดยทำหน้าที่ฝึกฝนการ์ดของ พธม. เพื่อการรักษาความปลอดภัย และตอบโต้ทางวาจากับทาง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่อยู่ฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนที่ พล.ต.ขัตติยะ จะถูกยิงเสียชีวิตในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ร.อ.ทรงกลด เป็นผู้ทำนายว่า พล.ต.ขัตติยะ จะต้องเสียชีวิตไม่นานหลังจากนี้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น[5]

ในวันที่ 24 มิถุนายน-25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ทรงกลด ได้สร้างความฮือฮาด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอกส์ ยืนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เช้าจนถึงมืด เป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน แม้บางช่วงจะมีฝนตก และได้เข้าไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในนโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายของทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย[1] [6]

จากนั้นในเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน ที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อมิให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าทำงานได้เป็นวันแรกตั้งแต่รับโปรดเกล้า ฯ ซึ่งทางตัว ทรงกลดได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง (สน.พระราชวัง) อันเป็นพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมกับตั้งข้อหา 2 ข้อหา คือ 1. กีดขวางการจราจร 2. ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่ทาง ร.อ.ทรงกลดไม่ยอมรับข้อหา และได้อยู่ที่ สน. ตลอดจนถึงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม โดยไม่ได้เป็นการควบคุมตัวโดยตำรวจ ซึ่งทาง ทรงกลดได้ให้เหตุผลของการที่อยู่ที่ สน. ว่าต้องการจะพบกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์[7] [8] [2]

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดได้พยายามที่จะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เข้ายังไปพื้นที่ตัวอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) และเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งตรงกับวันเดียวกันกับที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เดินเท้าจากแยกอุรุพงษ์ไปยังรัฐสภาด้วย[9] ซึ่งก็ได้ถูกจับเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แต่ต่อมา ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อการชุมนุมวุ่นวายใด ๆ อีก[10]

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันได้ร่วมกับ กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ก่อตั้งกองทัพนิรนามขึ้น[11] โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในช่วงปี พ.ศ. 2556–2557[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทรงกลด_ชื่นชูผล http://www.naewna.com/politic/62538 http://www.naewna.com/politic/columnist/7379 http://news.sanook.com/1196815/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%... http://news.sanook.com/1197006/%E0%B8%95%E0%B8%B3%... http://news.sanook.com/1201585/ http://www.oknation.net/blog/nity/2010/05/13/entry... http://www.thairath.co.th/content/363912 https://www.facebook.com/139297846200472/photos/a.... https://www.thairath.co.th/news/crime/1931716 https://www.thairath.co.th/news/local/central/1931...