การเรียบเรียงและเนื้อร้อง ของ ทรงอย่างแบด

เปเปอร์เพลนส์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะให้เพลงนี้เกิดความนิยมในหมู่เด็กตั้งแต่การประพันธ์เพลงในช่วงแรก จึงเกิดความประหลาดใจเมื่อ "ทรงอย่างแบด" สามารถสร้างกระแสในผู้ฟังวัยเด็กได้ และเมื่อลองวิเคราะห์ด้วยตนเองดู พบว่าเป็นเรื่องของทำนองเพลงที่ย้ำ ๆ และการเลือกใช้โน้ตที่ง่าย ทั้งคู่กล่าวต่อว่า "การเรียบเรียงดนตรีเหมือนเพลงกล่อมเด็กนอน" จากการวิเคราะห์ของพวกเขา[3]

ในมุมมองภาษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะแมตเตอร์ ว่ารูปแบบของคำที่จดจำง่าย หนึ่งในท่อนของเนื้อร้องที่ได้รับความนิยม "ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย" มีรูปแบบการออกเสียงที่เป็นระบบและแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้น การออกเสียงจึงทำได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กที่ยังออกเสียงที่มีความซับซ้อนได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ ศุจิณัฐยังพบว่า การออกเสียงพยัญชนะมีรูปแบบแบบเดียวกัน กล่าวคือ พยางค์แรกของทั้งสองวรรค "ทรง" กับ "แซด" ออกเสียง ส หรือ ซ /s/ ซึ่งเป็นเสียงที่ปุ่มเหงือก ตามด้วยการซ้ำคำว่า "อย่าง" มีพยัญชนะต้น ย เป็นเสียงเพดานแข็ง และ "แบด" กับ "บ่อย" ออกเสียง บ /b/ เป็นเสียงริมฝีปากเหมือนกัน ศุจิณัฐระบุว่า การซ้ำอย่างเป็นระบบของ "ปุ่มเหงือก–เพดานแข็ง–ริมฝีปาก" ทำให้ผู้ฟังสามารถออกเสียงได้แบบชัดเจนและคาดเดาคำต่อไปได้[4] มีการตั้งข้อสังเกตว่าท่อน "ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย" มีความคล้ายกับการท่องสูตรคูณอย่าง "สองหนึ่งสอง สองสองสี่"[5][6] แบรนด์อินไซต์เอเชีย วิเคราะห์ว่าทุกวรรคมีสัมผัสคำคล้องจองกัน เหมือนเพลงเด็กภาษาอังกฤษอย่าง "ดาวดวงน้อย (Twinkle, Twinkle, Little Star)" ที่มีสัมผัสระหว่างสองคำ "Twinkle-Little" อีกทั้ง "ทรงอย่างแบด" ยังใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษง่าย ๆ อย่าง "sad" (เศร้า) หรือ "boy" (เด็กชาย) เป็นต้น[7]

ชุดาลักษณ์ พินันท์ อาจารย์ประจำวิชาการประสานเสียงดนตรีร่วมสมัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ทูเดย์ กล่าวว่า ผู้ฟังวัยเด็กสามารถร้องได้ เพราะโน้ตเสียงสูงต่ำไม่ได้ต่างกันเกินไปจนร้องไม่ได้ และเมื่อฟังซ้ำบ่อย ๆ จะทำให้จดจำทำนองได้ ชุดาลักษณ์กล่าวต่อว่า "เนื้อเพลงก็จะดูเท่ ๆ นิดนึงสำหรับเด็กผู้ชาย ถ้าเราดูในคลิปก็จะเห็นน้อง ๆ ผู้ชายอยู่กับเพื่อน ๆ กัน เวลาเขาร้องคำว่าทรงอย่างแบด เขาก็อาจจะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายเท่ ๆ เขากล้าร้องเนื้อนี้ออกมา"[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทรงอย่างแบด https://brandinside.asia/bad-boy-popular-among-kid... https://thematter.co/social/phonetics-in-bad-boy-s... https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertain... https://www.marketingoops.com/reports/behaviors/ch... https://mgronline.com/entertainment/detail/9660000... https://www.pptvhd36.com/gallery/%E0%B8%9A%E0%B8%B... https://www.sanook.com/campus/1413211/ https://www.sanook.com/news/8738174/ https://www.tnnthailand.com/news/entertainment/135... https://www.tnnthailand.com/news/entertainment/136...