ประเภทของทรัพย์สิน ของ ทรัพย์สิน

อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์

ดูบทความหลักที่ อสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์

อสังหาริมทรัพย์ (อังกฤษ: immovable (ซีวิลลอว์), realty (คอมมอนลอว์)) หมายความว่า ทรัพย์ที่นำไปไม่ได้ คือ ทรัพย์ที่ติดกับที่ ได้แก่ ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย[1]

สังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมะ (อังกฤษ: movable (ซีวิลลอว์), personalty (คอมมอนลอว์)) หมายความว่า ทรัพย์ที่นำไปได้ ได้แก่ ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์และรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย[1]

ทรัพย์แบ่งได้และทรัพย์แบ่งไม่ได้

ดูบทความหลักที่ ทรัพย์แบ่งได้ และ ทรัพย์แบ่งไม่ได้

ทรัพย์แบ่งได้ (อังกฤษ: divisible thing) คือ ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว[14]

ทรัพย์แบ่งไม่ได้ (อังกฤษ: indivisible thing) คือ ทรัพย์อันอาจจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย[15] เช่น ป.พ.พ. ม.1118 ให้หุ้นของบริษัท และม.1394 ให้ภาระจำยอม เป็นทรัพย์แบ่งไม่ได้

ทรัพย์นอกพาณิชย์และทรัพย์ในพาณิชย์

ทรัพย์นอกพาณิชย์ (อังกฤษ: non-commercial thing) คือ ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย[1] เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ สายลม ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์

ทรัพย์ในพาณิชย์ (อังกฤษ: commercial thing) คือ ทรัพย์ทั้งหลายที่มิใช่ทรัพย์นอกพาณิชย์

สังกมทรัพย์และอสังกมทรัพย์

ดูบทความหลักที่ สังกมทรัพย์ และ อสังกมทรัพย์

สังกมทรัพย์ (อังกฤษ: fungible thing) คือ สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากันแทนได้[1]

อสังกมทรัพย์ (อังกฤษ: non-fungible thing) คือ สังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจใช้ของอื่น ที่เป็นประเภทและชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันแทนได้[1]

ทรัพย์สินทั้งสองประเภทนี้ ปัจจุบันกฎหมายไทยได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีอยู่ในกฎหมายของบางประเทศ[5]

วิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์

ดูบทความหลักที่ วิญญาณกทรัพย์ และ อวิญญาณกทรัพย์

วิญญาณกทรัพย์ หรือ สวิญญาณกทรัพย์ (อังกฤษ: living thing) คือ สิ่งที่มีวิญญาณหรือชีวิตซึ่งนับเป็นทรัพย์ เช่น ทาส ช้าง ม้า วัว ควาย[1]

อวิญญาณกทรัพย์ (อังกฤษ: non-living thing) คือ สิ่งที่ไม่มีวิญญาณหรือชีวิตซึ่งนับเป็นทรัพย์ เช่น เงิน ทอง ที่ดิน[1]

ทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้มีในกฎหมายโบราณของประเทศไทย แต่ปัจจุบันไม่มีที่ใช้แล้ว

โภคยทรัพย์

ดูบทความหลักที่ โภคยทรัพย์

โภคยทรัพย์ (อังกฤษ: consumable thing) คือ สังหาริมทรัพย์ซึ่งเมื่อใช้ย่อมเสียภาวะเสื่อมสลายไปในทันใดเพราะการใช้นั้น หรือซึ่งใช้ไปในที่สุดย่อมสิ้นเปลืองหมดไป[1]

ทรัพย์สินประเภทนี้ ปัจจุบันกฎหมายไทยได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังมีอยู่ในกฎหมายของบางประเทศ[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทรัพย์สิน http://www2.publicationsduquebec.gouv.qc.ca/dynami... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.samuiforsale.com/Civil_Code_text_Englis... http://www.thecorpusjuris.com/laws/statutes/republ... http://www.gesetze-im-internet.de/englisch_bgb/ http://civil.udg.es/normacivil/ http://civil.udg.es/normacivil/estatal/CC/2T1.htm http://www.cas.go.jp/jp/seisaku/hourei/data/CC_2.p... http://www.japaneselawtranslation.go.jp/law/detail... http://www.napoleon-series.org/research/government...