ผลงานทางการเมือง ของ ทวี_บุณยเกตุ

คณะราษฎร

ในระหว่างศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ทวี บุณยเกตุ มีโอกาสได้พบปะกับผู้นำความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ปรีดี พนมยงค์, ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ, ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี, ร้อยโททัศนัย มิตรภักดี จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะราษฎร โดยผ่านการรับรองของ แนบ พหลโยธิน ที่ได้ติดตามดูพฤติกรรมของทวีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยแนบเป็นผู้ที่ชักชวน และทวีก็ได้ตอบรับทันที

เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศสยาม ทวีเข้ารับราชการเป็นพนักงานบำรุงพันธุ์สัตว์ กระทรวงเกษตราธิการ ได้ชักชวนบุคคลต่าง ๆ เข้าร่วมกับคณะราษฎรอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน อาทิ จรูญ สืบแสง, วิลาศ โอสถานนท์, นาวาตรีสินธุ์ กมลนาวิน เป็นต้น และในการประชุมวางแผนนั้นก็ได้ใช้บ้านพักของหลายคนสลับกันไป รวมถึงบ้านของทวีด้วย ซึ่งในการประชุมวางแผนครั้งสุดท้ายที่บ้านของพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ทวีได้เข้าร่วมด้วย

ต่อมาทวีต้องย้ายไปรับราชการที่อำเภอท่าพระ (ปัจจุบันคือ อำเภอเมืองขอนแก่น) จังหวัดขอนแก่น จึงไม่มีโอกาสได้ติดต่อกับคนอื่น ๆ แต่ได้ขอให้แนบเป็นผู้ส่งข่าวความคืบหน้า จนกระทั่งแนบได้ส่งโทรเลขความว่า "ส่งเงินวันที่ 16 นี้" ซึ่งเป็นรหัสอันหมายถึงจะลงมือปฏิบัติการในวันที่ 16 มิถุนายน ทวีจึงถือโอกาสลาราชการมายังจังหวัดพระนคร แต่ว่าการปฏิบัติการก็ได้เลื่อนต่อไปจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ทวีจึงขอลาต่ออีก 7 วัน

ในเช้าวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเวลา 01.00 น. ทวีได้เริ่มออกปฏิบัติการโดยการขับรถตระเวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วพระนคร พร้อมกับจรูญ สืบแสง เพื่อตรวจตราความเรียบร้อยของสถานที่ต่าง ๆ ตามแผน ก่อนจะไปสมทบกับกลุ่มของร้อยโทแปลก ทำการควบคุมค่ายทหารที่เขตบางซื่อ จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองดำเนินไปจนสำเร็จโดยดี อีกทั้งก่อนหน้านั้นทวียังเป็นผู้ที่ปลอมลายเซ็นของ พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อเซ็นลงในใบอนุญาตให้พกอาวุธปืน ซึ่งได้ใช้เป็นอาวุธสำคัญในปฏิบัติการของคณะราษฎรสายพลเรือนด้วย[2]

การรับตำแหน่ง

ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 1 ของไทย โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีไทย ทวีได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 เป็นผู้หนึ่งที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับปรีดี พนมยงค์ นอกจากนั้นยังสนิทสนมและได้รับความไว้วางใจจากควง อภัยวงศ์ อย่างมาก

ในช่วงรัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ทวีและควง ได้รับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวกับจอมพลแปลก ซึ่งไม่ยอมลงนามรับสนองพระราชโองการ ทวีและควงจึงลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพลแปลก ทวีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[3] ในช่วงเวลานั้น ทวียังได้รับมอบอำนาจเป็นผู้สั่งการแทนนายกรัฐมนตรีในหลายโอกาส ทั้งยังเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการในการประกาศพระราชโองการว่าสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

หลังจากควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และอยู่ระหว่างรอ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แต่งตั้งทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลาออกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 ระยะเวลาในการบริหารประเทศของทวีจึงสั้นเพียง 18 วัน นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

การเปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยาม

หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 ให้เรียกชื่อประเทศว่า สยาม เช่นเดิม แต่เมื่อจอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ประเทศไทย อีกครั้ง และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ลี้ภัยออกนอกประเทศ

วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะทหารเข้ายึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายทวี บุณยเกตุ ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมกับภริยา ไปใช้ชีวิตที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 โค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายทวีได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ใช้เวลาร่างถึง 10 ปี

นายทวี บุณยเกตุ ได้ก่อตั้งมูลนิธิทางการศึกษาชื่อ มูลนิธิ ทวี บุณยเกตุ ซึ่งเคยช่วยเหลือสมาชิกคุรุสภา ผู้ประสบอัคคีภัยและภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ใช้ชื่อท่านเป็นห้องประชุม (ห้องประชุม ทวี บุณยเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึงปี พ.ศ. 2489 นับเป็นคนที่ 2 ของมหาวิทยาลัย (ต่อจาก พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทวี_บุณยเกตุ http://osknetwork.com/modules.php?name=News&file=a... http://www.thaiuktimes.com/page/vel-oct/news_mak2.... http://www.webcitation.org/query?id=12566049470995... http://www.lanna.mbu.ac.th/panya/book61/teacher.as... http://oservice.skru.ac.th/ebookft/625/chapter_6.p... http://drmlib.parliament.go.th/securepdf/p_297082.... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/D/... http://www.thaigov.go.th/general/prime/prime-index...