งานสร้าง ของ ทองปาน

จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ของทองปาน ชาวนาคนชายขอบผู้เคยต้องย้ายที่ทำกินมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากการสร้างเขื่อน ทองปานกำลังเดินทางไปซื้อยารักษาวัณโรคให้ภรรยา และถูกเชิญชวนให้มาร่วมการสัมมนาเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขง ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งมีนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา นักข่าว และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม [5] ระหว่างการสัมมนา ทองปานทำกระเป๋าสตางค์ที่มีเงินอยู่เพียง 20 บาทหาย และไม่ได้ไปซื้อยา และพบว่าภรรยาตายเสียก่อนที่เขาจะกลับไปถึงบ้าน [6]

คณะผู้สร้างได้นำเรื่องของทองปานมาดัดแปลง ให้ทองปานเป็นอดีตชาวนาที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นกรรมกร เพราะทางการไม่ยอมปล่อยน้ำเหนือเขื่อน เขาได้รับการชักชวนจากนักศึกษามาร่วมสัมมนา บอกเล่าผลกระทบจากเขื่อน ภาพยนตร์นำเสนอภาพการสัมมนา สลับกับภาพชีวิตประจำวันของทองปาน เป็นการเสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการพัฒนาชนบทของรัฐบาล ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

ถ่ายทำที่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างการตัดต่อหลังถ่ายทำเสร็จไม่นานเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา บรรดาทีมงานและนักแสดงตกเป็นผู้ต้องหากระทำการเป็น คอมมิวนิสต์ หลบหนีเข้าป่า ไพจง ไหลสกุล ผู้สร้าง เขียนบทและกำกับ ต้องหนีไปต่างประเทศพร้อมกับฟิล์มหนังต้องห้าม ไม่มีโอกาสฉายในเมืองไทยรอบปกติ อีกทั้งเพลงประกอบเรื่อง ชื่อ คนกับควาย ของ สุรชัย จันทิมาธร ก็กลายเป็นเพลงต้องห้ามด้วย

นักแสดงนำผู้รับบท ทองปาน โพนทอง ชีวิตจริงเป็นนักมวยชื่อ องอาจ มณีวรรณ ต่อมาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ลูกอีสาน (2525) ของวิจิตร คุณาวุฒิ รับบทเป็น พ่อสุด

ได้รับรางวัล Award of Merit จาก Asian American International Film Festival ที่นิวยอร์ก และจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่ วอชิงตันดีซี ลอนดอน เอดินเบิร์ก และฮ่องกง