ลักษณะทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ของ ทะเลสาบสงขลา

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งอาณาจักรอยุธยา จากหลักฐานแผนที่ราชอาณาจักรสยามของชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 บันทึกไว้ว่า บริเวณแหลมสทิงพระแห่งนี้ มีเกาะอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่สุด อยู่ทางตอนเหนือ ส่วนทางตอนใต้มีเกาะเล็ก ๆ อีก 4 เกาะ กระจัดกระจายกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2383 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานการเดินทางเป็นบันทึกปูมเรือของชาวอังกฤษ ขณะเดินทางผ่านน่านน้ำแถบนี้ ระบุไว้ว่า

แล่นผ่านช่องแคบนครศรีธรรมราชและหมู่เกาะแทนทาลัม การเดินเรือค่อนข้างน่ากลัวเพราะเต็มไปด้วยโขดหิน แต่คนเดินเรือของเราเคยเดินทางผ่านมาแล้วด้วยเรือเล็ก เขาก็อาสานำเรือ ทิวทัศน์ทั้ง 2 ฟากแถบดูใหญ่โตมาก ทางฝั่งเมืองนครศรีธรรมราชเก่า ทิวเขาก็แสดงความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน คือ ทางยอดเขานั้นรู้สึกโล่งเตียน ไม่เหมือนทางต่ำกว่าที่อุดมสมบูรณ์ของแทนทาลัม นอกจากนี้ยังมีอ่าวเล็ก ๆ ของเมืองตาลุง ราว 4 โมงเย็น เราก็มาถึงนอกเมืองสงขลา

ต่อมาภายหลังระดับน้ำทะเลลดลงจนเกิดการทับถมของตะกอนและทรายตอนบนทำให้เกาะเล็กทั้ง 4 เกาะรวมกันเป็นเกาะใหญ่ เรียกว่า เกาะแทนทาลัม ต่อมาภายหลังลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนไป แผ่นดินของเกาะยื่นออกไปเชื่อมกับแผ่นดินตอนบนที่อยู่ทางนครศรีธรรมราช กลายเป็นทะเลสาบ

ซึ่งดินแดนแถบทะเลสาบสงขลาในอดีตมีความเจริญทางการค้าและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก อันเนื่องจากเป็นท่าเรือ เปิดรับชนชาติต่าง ๆ ทั้ง จีน, อินเดีย และอาหรับ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ก่อเกิดเป็นชุมชนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนารายรอบ [2]