พฤติกรรมและความสำคัญ ของ ทากิฟูงุ

ในชนิดที่เป็นปลาสองน้ำ จะเป็นปลาที่วางไข่ในน้ำจืด จากนั้นเมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ อพยพย้ายไปอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยหรือตามแถบปากแม่น้ำหรือชายฝั่ง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของภูมิภาคแถบนี้ ปลาที่อยู่ในรุ่นพร้อมจะผสมพันธุ์จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำแยงซี เพื่อที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ เป็นวงจรเช่นนี้ทุกปี[3]

ปลาปักเป้าสกุลทากิฟูงุ หรือ ฟูงุนี้เป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนปรากฏเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ในยุคเอโดะ ซึ่งปลาในสกุลนี้ทุกชนิดล้วนแต่มีสารพิษในตัวที่เรียกว่า "เตโตรโดท็อกซิน" (Tetrodotoxin) มากน้อยแล้วแต่ชนิด แต่ชนิดที่มีสารพิษชนิดนี้น้อยที่สุด คือ Takifugu oblongus แต่กระนั้นก็สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้สำหรับผู้ที่รับประทานเข้าไป ซึ่งสารพิษชนิดนี้มีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า และทนความร้อนได้สูงถึง 200 เซลเซียส ดังนั้นการใช้ความร้อนธรรมดาในการปรุงอาหารจึงไม่สามารถทำลายพิษได้ ต้องใช้พ่อครัวที่มีความชำนาญในการชำแหละและปรุง ซึ่งต้องได้รับการลงทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากทางการเสียก่อน จึงจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการได้

ภาพอุกิโยะในยุคเอโดะของฮิโระชิเงะ แสดงภาพปลาปักเป้าเคียงข้างกับปลาฮะมะจิ