ทาแมนดัว
ทาแมนดัว

ทาแมนดัว

ทาแมนดัว เป็นตัวกินมดสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamandua ซึ่งคำว่า tamanduá นี้เป็นภาษาตูเปียนแปลว่า "ตัวกินมด"[2]ทาแมนดัว เป็นตัวกินมดที่มีขนาดกลาง มีความยาวเต็มที่ตั้งแต่ปลายปากจรดหางราว 100 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร ทาแมนดัวมีลิ้นที่เรียวยาวสามารถยืดหดเข้าไปในปากได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตวัดเอาแมลงขนาดเล็กกินเป็นอาหารทาแมนดัว มีขนปกคลุมตลอดทั้งลำตัวและมีผิวหนังที่หนาเพื่อป้องกันตัวจากการถูกกัดหรือโจมตีโดยแมลงที่เป็นอาหาร แต่ปลายหางของทาแมนดัวนั้นเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ซึ่งปลายหางนั้นสามารถใช้เกาะเกี่ยวกับกิ่งไม้หรือต้นไม้ได้เป็นอย่างดี เมื่อแลมองไกล ๆ จะเหมือนกับว่ามีแขนที่ 5 เนื่องจากทาแมนดัวเป็นตัวกินมดที่หากินและใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก มีกรงเล็บตีนหน้าที่แหลมคม ใช้สำหรับขุดคุ้ยหาแมลงกิน และใช้ในการปีนป่ายต้นไม้ ซึ่งทาแมนดัวเมื่ออาศัยหรือเข้าไปหากินในพื้นที่ใด ๆ ลิงหลายชนิดก็จะไม่เข้าใกล้ และจะหนีไป เนื่องจากทาแมนดัวเป็นตัวกินมดที่หากินบนต้นไม้เป็นหลัก ดังนั้นอาหารที่กินส่วนใหญ่จะเป็น มด มากกว่าจะเป็นปลวก ซึ่งเป็นแมลงที่ทำรังบนพื้นดินมากกว่า และถึงแม้ว่าทาแมนดัวจะไม่มีฟัน แต่เมื่อถูกคุกคามหรือถูกจับด้วยมนุษย์ ก็จะหันมากัดด้วยกราม ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาทาแมนดัวต้องสวมเครื่องป้องกันตลอดทั้งแขน นอกจากนี้แล้วยังสามารถที่จะยืนด้วย 2 ขาหลังได้ โดยยกกรงเล็บตีนหน้าขึ้นเพื่อการป้องกันตัวทาแมนดัว เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ในป่าดิบตั้งแต่อเมริกากลาง จนถึงทวีปอเมริกาใต้ เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืนเป็นหลัก แต่ก็สามารถหากินในเวลากลางวันได้ด้วยเช่นกัน โดยปกติเป็นสัตว์ที่พบเห็นตัวได้ยาก เนื่องจากค่อนข้างเก็บตัวและขี้อาย และจากการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ทาแมนดัวยังใช้กรงเล็บหน้าในการผ่าลูกปาล์มที่เพิ่งสุกแยกออก เพื่อใช้ลิ้นตวัดกินน้ำและเนื้อผลของลูกปาล์มกินเป็นอาหารได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมนี้เชื่อว่าเป็นพฤติกรรมที่มาจากการเรียนรู้ หรือสั่งสอนกันมาจากรุ่นต่อรุ่น เพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม[3]