ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ทุนทางสังคม

สำหรับสังคมไทย คำว่าทุนทางสังคมถูกนำมาใช้อย่างมากหลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการจัดการทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการนำเข้าคำศัพท์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันแสวงหากำไร คำว่าทุนทางสังคมจึงถูกนำเข้ามาใช้ในสังคมไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความหมายของทุนทางสังคมในบริบทของสังคมไทยว่าหมายถึงผลรวมของสิ่งดีงามต่างๆที่มีอยู่ในสังคม ทั้งในส่วนที่ได้จากการสั่งสมและการต่อยอด รวมถึงการรวมตัวของคนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ สายใยแห่งความผูกพันและวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งหากนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและสังคมให้สมดุลและยั่งยืน[4]

คำว่าทุนทางสังคมถูกนำไปใช้ในหลายบริบทและหลายความหมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างในทางการเมือง เช่น ในบทความของปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ (2548)[5] กล่าวถึงทุนทางสังคมในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดพื้นฐานของความเป็นนักการเมืองและภาพพจน์ที่จะถูกสั่งสมออกมาเป็นนักการเมืองที่ดี ทำให้การประกอบอาชีพทางการเมืองมีความราบรื่นและส่งผลดีต่อประเทศชาติ ซึ่งในกรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพื้นฐานทุนทางสังคมมาจากพ่อค้าวาณิช ภาพของรัฐบาลและภาพพจน์ของรัฐมนตรีเหล่านั้น ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงออกไปในทางตั้งข้อระแวง สงสัยไม่ค่อยจะไว้วางใจนัก โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับการมองพ่อค้าวาณิชทั่วไปว่าเป็นพวกที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้กับตนเองอย่างเดียวเป็นสำคัญมากกว่าจะคิดเจือจานรับใช้แผ่นดินด้วยความสุจริตใจ

อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจทุนทางสังคมไม่ใช่เป็นเพียงพื้นฐานส่วนบุคคล แต่ต้องมองในลักษณะองค์รวม เพราะทุนทางสังคมเป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทอันหลากหลายของสมาชิกในสังคมจนออกมาเป็นสถาบันที่อยู่บนความเชื่อใจ ความร่วมมือกัน และมีเครือข่ายระหว่างกัน จนสุดท้ายทุนทางสังคมจะเป็นพื้นฐานให้กับกิจกรรมทั้งหลายที่เกิดทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งทุนทางสังคมดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาในการสะสมอย่างยาวนาน และสามารถสถาปนาเป็นสถาบันที่จัดความสัมพันธ์ของสมาชิกได้อย่างลงตัว