อรรถาธิบาย ของ ทุนทางสังคม

สำหรับความหมายที่นิยมอ้างถึงมากที่สุดคือนิยามของโรเบิร์ท แพทนัม (Robert Putnam) (1993: 167)[2] ที่กล่าวว่าทุนทางสังคมคือรูปแบบของการจัดองค์การที่ประกอบไปด้วยความเชื่อใจ (trust) บรรทัดฐาน (norm) และเครือข่าย (network) ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสังคมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยทุนทางสังคมจะเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของสังคมโดยอาศัยความเชื่อใจ ไม่ใช่แค่ระดับบุคคลต่อบุคคล แต่เป็นระดับในองค์รวมของสังคม และสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้น ผู้อื่นก็จะตอบรับกลับมาในทางเดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงก่อตัวเป็นสถาบัน (institution) และจุดมุ่งหมายของสถาบันก็คือการจัดการกับปัญหาที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ (collective action problem) แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั้งหลายในสังคมและมีทุนทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในระดับสากลคำว่าทุนทางสังคมก็ยังมีอีกหลายนิยามที่อาจจะสอดคล้องหรือขัดแย้งในบางประเด็น แต่จุดร่วมที่มีอยู่ด้วยกันคือการใช้คำว่าทุนทางสังคมในการสร้างความร่วมมือทางสังคม ทุนทางสังคมโดยตัวของมันเองนั้นมิได้เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรง หากแต่เป็นตัวกลางในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือทุนอื่น เช่น ข่าวสารข้อมูล ทุนมนุษย์ (human capital) ทุนกายภาพ (physical capital) ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) เป็นต้น ในต้นทุนหรือราคาที่ถูกลง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมที่แต่ละสมาชิกทำหน้าที่ตามบทบาทตัวเองอย่างเหมาะสม ทุนทางสังคมจึงเป็นรากฐานในความร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งจะส่งเสริมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและพัฒนาการทางการเมือง[3]