ลักษณะทางธรณีวิทยา ของ ทุ่งรังสิต

พื้นที่บริเวณทุ่งรังสิตเป็นแอ่งที่เกิดจากการทรุดตัวตามรอยเลื่อนของเปลือกโลกเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน ทำให้แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่าน มีกระแสน้ำไหลช้า จึงมีการตกตะกอนมาก เกิดการสะสมของดินตะกอนจนแอ่งกระทะตื้นเขิน กลายเป็นผืนดินในที่ลุ่มต่ำ มีบึงน้ำและพื้นที่ชื้นแฉะกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อถึงฤดูฝนและในช่วงน้ำหลากมาจากทางเหนือ บริเวณทุ่งจะกลายสถาพเป็นทุ่งรับน้ำกว้างใหญ่ ก่อนที่จะไหลออกไปสู่ทะเลตามธรรมชาติสู่แถบคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ[4] เป็นเหตุให้น้ำเหนือไม่ไหลลงสู่พระนคร

บริเวณทุ่งรังสิตก่อนที่จะมีการขุดคลองรังสิต ปรากฏชื่อห้วยหนองคลองบึงปรากฏอยู่กว้างขวาง ได้แก่ ลำบางน้อย ลำอ้ายสัง ลำลาดไทร ลำหนองจิก ลำเรือแตก คลองเชียงรากน้อย คลองเชียงรากใหญ่ คลองบางหวาย คลองบางหลวงหัวป่า ลำลูกกา บึงทองหลาง ลำไทร บึงคอไห หนองเสือ ส่วนบริเวณคลองรังสิตฝั่งใต้ ได้แก่ ลำบางสิง หนองบอน ลำลาดโพ ลำลาดสนุ่น ลำสวาย ลาดจระเข้ บึงคำพลอย ลำสีสะกระบือ ลำสมอกอง ลำอ้อมแก้ว ลำหม้อแตก และคลองชัน เป็นต้น[3]