ประวัติ ของ ท็อปนิวส์

#แบนสปอนเซอร์เนชั่น และการปฏิรูปองค์กร

สืบเนื่องจากการที่บุคลากร ผู้ประกาศข่าว และผู้รายงานข่าวของเนชั่นทีวีหลายคนมีอุดมการณ์สุดโต่ง มักเสนอข่าวสารเพื่อด้อยค่ากลุ่มผู้ชุมนุมและพรรคฝ่ายค้านโดยตลอด ในการประท้วงขับไล่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จึงพบว่ามีผู้สื่อข่าวของเนชั่นทีวีปกปิดสังกัดและแอบอ้างช่องอื่นในการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นนักศึกษา เนื่องจากถูกกดดันในการทำหน้าที่ ซึ่งต่อมาเนชั่นยอมรับว่าเป็นความจริง[2] จึงเกิดการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคเป็นกระแสในทวิตเตอร์ด้วยแฮชแท็ก #แบนสปอนเซอร์เนชั่น เพื่อตัดรายได้และกดดันให้เนชั่นเปลี่ยนแปลงแนวทางการนำเสนอข่าว[3] หลังจากนั้นจึงเริ่มมีผู้สนับสนุนถอนการสนับสนุนออกจากเนชั่นไป ส่งผลกระทบต่อการหารายได้ของเครือเนชั่นอย่างมาก[4]

จากผลดังกล่าวส่งผลให้เนชั่นทีวีต้องมีการปฏิรูปองค์กรเพื่อป้องกันการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคในอนาคต โดยแต่งตั้งอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ซึ่งมีอุดมการณ์ตรงข้ามและขัดแย้งกับกลุ่มบุคลากรดังกล่าว มาเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของเนชั่นทีวี ทำให้กลุ่มบุคลากรดังกล่าวลาออกจากเนชั่นไป เริ่มจากสนธิญาณซึ่งลาออกมาก่อนหน้านี้[5] เพื่อไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามสถาบันทิศทางไทยที่ตนก่อตั้งขึ้น[6] ตามด้วยฉัตรชัย ภู่โคกหวาย กรรมการผู้จัดการของเนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (บริษัทในเครือเนชั่น)[7], สันติสุข มะโรงศรี, อัญชะลี ไพรีรัก[8], สถาพร เกื้อสกุล[9], อุบลรัตน์ เถาว์น้อย[10], วรเทพ สุวัฒนพิมพ์[11], ธีระ ธัญไพบูลย์, กนก และ ลักขณา รัตน์วงศ์สกุล[12]

การเจรจาหาสถานีโทรทัศน์

มีการคาดการณ์ว่าอดีตบุคลากรดังกล่าวทั้งหมดไปจัดรายการที่ช่องนิว18 และเริ่มงานในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563[13] แต่สุดท้ายผังรายการข่าวเดือนธันวาคมของนิว18 ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม[14] ต่อมากนกชี้แจงว่าในวันดังกล่าวกลุ่มของตนยังไม่ได้เริ่มทำช่อง[15] และสันติสุขได้ชี้แจงเพิ่มว่าไม่ได้เจรจากับช่องนิวส์วันตามที่มีข่าวลือ แต่มีการเจรจากับสถานีโทรทัศน์ 4 ช่อง[16] และมีกระแสข่าวอีกว่าพวกเขาจะไปร่วมงานที่ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ของบมจ.อสมท ตามคำชวนของบุคคลภายในรัฐบาล ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเตรียมต่อต้าน[17] แต่อัญชะลีปฏิเสธข่าวดังกล่าว[18]

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม กลุ่มดังกล่าวประกาศว่าได้สถานีโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว และให้รอฟังสนธิญาณแถลง[19] โดยในวันที่ 8 ธันวาคม มีรายงานข่าวว่าผู้บริหารช่องนิว18 ได้ขายใบอนุญาตของตนให้กลุ่มดังกล่าวไปบริหารต่อ และสั่งซื้อโฆษณาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงประมาณ 6-7 บริษัท ซึ่งจะทำรายได้รวมกว่า 800 ล้านบาท และเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค โดยกำหนดเริ่มบริหารในวันที่ 21 ธันวาคม[20] แต่เป๊ปซี่ - เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการบริหารข่าวของนิว18 ได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว รวมถึงกล่าวเพิ่มว่าในวันที่ 21 ธันวาคม ยังเป็นผังรายการเดิม และกราฟิกโปรโมทไม่ได้จัดทำขึ้นโดยทีมของตน[21] ต่อมาอัญชะลีได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวอีกครั้ง และเลื่อนการเปิดตัวทีมข่าวของตนไปเป็นช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564[22]

ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเอง

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สนธิญาณกล่าวว่า ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 จะเปิดตัวทีมงานของตนเองในนาม ท็อปทีวี (อังกฤษ: TOP TVcode: en is deprecated ) และได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก Top News Live เพื่อเผยแพร่ข่าวสารในระหว่างรอความชัดเจน[23] และสนธิญาณได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิทัล มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เพื่อประกอบกิจการของกลุ่มท็อปทีวี[24] โดยมีสนธิญาณ, ฉัตรชัย และลักขณา เป็นกรรมการ[25] ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้เปลี่ยนชื่อทีมงานของตนมาเป็นชื่อปัจจุบันคือ ท็อปนิวส์ (อังกฤษ: Top Newscode: en is deprecated ) และมีการประกาศรับสมัครบุคคลร่วมทำงานกับกลุ่มท็อปนิวส์จำนวน 74 ตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 มกราคม[26]

ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม วุฒินันท์ นาฮิม ได้ลาออกจากเนชั่นทีวีเพื่อร่วมงานกับกนกในกลุ่มท็อปนิวส์ด้วยเช่นกัน[27] และในวันเดียวกันมีข่าวอีกว่า สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มท็อปนิวส์เข้ามาเช่าเวลาสถานีเพื่อผลิตข่าว ส่งผลให้ฝ่ายข่าวในขณะนั้นไม่พอใจ โดยส่วนหนึ่งเตรียมลาออกและกลับไปร่วมงานกับเนชั่นทีวี รวมถึงกรุณา บัวคำศรี ยังได้เข้าไปพูดคุยและเจรจากับผู้บริหารด้วยตัวเองแต่ไม่สำเร็จ[28] แต่วันรุ่งขึ้นคือ 12 มกราคม อัญชะลีได้โพสต์เฟซบุ๊ก 2 โพสต์ มีใจความส่วนหนึ่งว่า "จบช่องสิบแปดไม่มีช่องสามสิบหก" และให้รอติดตามในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทางช่องทางใหม่ ซึ่งหมายถึงการเจรจาของกลุ่มท็อปนิวส์กับทั้งนิว18 และพีพีทีวีนั้นล้มเหลว[29]

และในที่สุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม สนธิญาณก็ได้ประกาศเปิดตัว สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำเสนอความจริงในทุกด้าน ยึดมั่นในการปกป้อง 3 สถาบันหลักของประเทศ คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และกำหนดเริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และสันติสุขได้กล่าวเสริมว่า ท็อปนิวส์จะออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม, โทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล, ไอพีทีวีทุกระบบ ทางช่องหมายเลข 77, เว็บไซต์ของช่อง รวมถึงเฟซบุ๊กและยูทูบของช่องด้วย[30] ทั้งนี้ พบว่า อมร แต้อุดมกุล, ศิรวิฑย์ ชัยเกษม และตะวันรุ่ง เตี๋ยประดิษฐ์ ซึ่งเดิมอ่านข่าวอยู่ที่ช่องนิว18 ได้ลาออกเพื่อมาร่วมงานที่ท็อปนิวส์ด้วย[31]

ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม มีกระแสข่าวว่า บมจ.อสมท จะดึงสัญญาณรายการ "เล่าข่าวข้น" จากท็อปนิวส์ มาออกอากาศคู่ขนานทางช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยคาดว่า บมจ.อสมท จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 6 ล้านบาท[32] ทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเตรียมคัดค้านอีกครั้ง เนื่องจากจะทำให้เสียภาพลักษณ์ในการนำเสนอข่าวของ บมจ.อสมท โดยสำนักข่าวไทย ที่เป็นกลาง น่าเชื่อถือ มืออาชีพ[33] แต่ทั้งตัวกนกเองและอัญชะลีได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว[34]

เปิดการออกอากาศสถานีโทรทัศน์

วันที่ 21 มกราคม ผู้บริหารและพนักงานของท็อปนิวส์ได้จัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาคารปฏิบัติการชั่วคราวของช่องท็อปนิวส์ที่ทีวีไดเร็คมอบให้[35] เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มต้นการออกอากาศ และสนธิญาณได้ให้โอวาท รวมถึงเน้นย้ำในจุดยืนการนำเสนอข่าวของสถานีแก่พนักงานทุกคน[36]

และในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 00:01 น. สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ ก็ได้เปิดสถานีอย่างเป็นทางการ โดยได้ส่งสัญญาณภาพออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง ในรูปแบบ M3U8 ขึ้นสู่ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 6 ในช่องทีวีดี 10 ผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีทางช่องหมายเลข 77 ของบริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือทีวีไดเร็ค ที่ท็อปนิวส์เช่าสัญญาณมาออกอากาศอีกต่อหนึ่ง[35][37] และได้เริ่มออกอากาศตามผังรายการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง[38] โดยในวันเปิดสถานี มีผู้รับชมทุกช่องทางออนไลน์รวมมากกว่า 10,000 คน[39] และเพียงเดือนแรกของการออกอากาศ ก็สามารถทำเรตติ้งได้ถึงอันดับที่ 9 และเป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มสถานีโทรทัศน์ประเภทข่าวสารและสาระ จากการวัดอันดับของพีเอสไอ รวมถึงมียอดผู้ชมทุกช่องทางรวมเฉลี่ยวันละกว่า 200,000 คน[40] อย่างไรก็ตาม จากกระแสการแบนสปอนเซอร์เนชั่นในสมัยที่บุคลากรกลุ่มนี้เคยทำงานอยู่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้สปอนเซอร์ของช่องท็อปนิวส์มีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่มักเป็นสปอนเซอร์ที่ไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้างเท่าที่ควร[41] อนึ่ง รายการเช้าข่าวเข้ม ยังมีการกระจายเสียงคู่ขนานไปยังสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร เอฟเอ็ม 90.5 เมกะเฮิรตซ์อีกด้วย[42]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท็อปนิวส์ http://www.smartbomb.co.th/schedule http://topnews.co.th https://truthforyou.co/32620/ https://www.dataforthai.com/company/0125563034304/... https://www.facebook.com/topnewslivethailand https://www.facebook.com/wootthinanfanpage/videos/... https://mgronline.com/columnist/detail/96400000102... https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000... https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000... https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000...