พยากรณ์โรค ของ ท่อน้ำดีตัน

  • ข้อมูลว่าด้วยผลการรักษามีความแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งทั่วโลก ผลสำเร็จของการผ่าตัดต่อท่อน้ำดีกับลำไส้เล็กแบบ Kasai เพื่อให้มีน้ำดีไหลได้อยู่ที่ร้อยละ 60-80 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลต่อผลผารรักษาคืออายุของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ข้อมูลจากหลายศูนย์รายงานว่าควรผ่าตัดผู้ป่วยก่อนอายุได้ 3 เดือน และมีข้อมูลว่ามีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญหากได้รับการผ่าตัดต่อท่อน้ำดีกับลำไส้เล็กก่อนอายุได้ 10 สัปดาห์ ในช่วงหลังผ่าตัดการลดลงของระดับบิลิรูบินในซีรัมมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการมีพยากรณ์โรคที่ดี
  • ผู้ป่วย 3 ลักษณะต่อไปนี้ควรได้รับการพิจารณารับการผ่าตัดซ้ำ
    • ผู้ป่วยที่มีตัวเหลืองอีกครั้งหลังจากช่วงหายตัวเหลืองระยะแรกหลังการผ่าตัด
    • ผู้ป่วยที่มีลักษณะทางมิญชวิทยาของท่อน้ำดีที่ดีในช่วงแรกของการผ่าตัดแต่ไม่สามารถมีน้ำดีไหลได้
    • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ไม่ดีเพียงพอ

ภาวะแทรกซ้อน

  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อท่อน้ำดีกับลำไส้มีทั้งภาวะแทรกซ้อนในระยะเฉียบพลันและเรื้องรัง
    • ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดคือการต่อท่อน้ำดีกับลำไส้ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้น้ำดีไม่สามารถไหลลงลำไส้ได้ดีเพียงพอ หลังการผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยหนึ่งในสามมีการไหลของน้ำดีไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มักดำเนินโรคไปสู่ภาวะตับแข็งจากน้ำดีภายในขวบปีแรกๆ ของชีวิต หากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ
    • ในระยะต่อมา พบภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคตับที่ยังดำเนินอยู่และภาวะความดันพอร์ทัลสูงมากถึงร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัด
    • ผู้ป่วยร้อยละ 50 หลังการผ่าตัดเกิดมีท่อน้ำดีอักเสบ มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันท่อน้ำดีอักเสบหลังการผ่าตัดต่อท่อน้ำดีกับลำไส้เล็กได้ผลว่ายา TMP/SMZ หรือ Neomycin สามารถใช้ป้องกันโรคท่อน้ำดีอักเสบหลังการผ่าตัดได้ประมาณครึ่งหนึ่ง[8]
    • ผู้ป่วยที่โรคดำเนินไปจนมีตับแข็งและไม่มีหลักฐานทางคลินิกของภาวะความดันพอร์ทัลสูงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเซลล์ตับมากขึ้น