ประวัติ ของ ท่าอากาศยานตาก

สนามบินตาก (เก่า) ก่อสร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ณ ตำบลระแหง อำเภอเมืองจังหวัดตาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประกาศเป็นสนามบินอนุญาตตามประกาศกระทรวงคมนาคมที่ 2/2497 ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2497 บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ได้ใช้เครื่องบินดักลาส ดีซี-3 ทำการบินให้บริการผู้โดยสารแบบประจำแต่ได้เลิกทำการบินประมาณ พ.ศ. 2513 หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมได้ประกาศยกเลิกเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

ใน พ.ศ. 2516 ช่วงเวลาที่ยังใช้สนามบินเดิมอยู่นั้น รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร พิจารณาให้กรมการบินพาณิชย์ (กรมท่าอากาศยานในปัจจุบัน) จัดหาที่เพื่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เนื่องจากที่เดิมมีภูมิประเทศไม่เหมาะสม มีราษฎรทำการบุกรุกที่ดิน มีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านและยังมีคลองน้ำไหลผ่านบริเวณท่าอากาศยานรวมทั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองมากเกินไป กรมการบินพาณิชย์ได้ขอความอนุเคราะห์กรมป่าไม้จัดหาพื้นที่บริเวณป่าสงวนจำนวน 1,300 ไร่ ซึ่งอยู่ในตำบลน้ำรึม อำเภอเมือง เป็นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานตากแห่งใหม่และได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2518 และกระทรวงคมนาคมประกาศให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2520[2]

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 การบินไทย ได้ใช้เครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72 ทำการบินรับ-ส่ง เส้นทางกรุงเทพฯ-ตาก-แม่สอด-เชียงใหม่ ไป-กลับ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2537 จึงขอหยุดทำการบิน เนื่องจากผู้โดยสารน้อยไม่คุ้มค่าต่อการทำการบิน โดยในปัจจุบันยังมีเครื่องบินที่ใช้ในราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจและเครื่องบินส่วนบุคคล ทำการบินเป็นครั้งคราว[3] และเป็นฐานในการทำฝนหลวง[4]

การอนุญาตให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยาน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 กรมท่าอากาศยานได้ประกาศแผนการมอบสิทธิ์การบริหารท่าอากาศยานตากให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอุดรธานี (ภายหลังได้เพิ่มท่าอากาศยานชุมพรและท่าอากาศยานสกลนครเข้ามาด้วย)[5] โดยจะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบ[6][7] แต่กระทรวงคมนาคมยังไม่อนุมัติในทันที โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมข้อมูลจากทั้งของกรมท่าอากาศยาน, บมจ. ท่าอากาศยานไทย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ไปศึกษาวิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียก่อน[8]

ในวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีมติเห็นชอบรับโอนท่าอากาศยานทั้งสี่แห่งดังกล่าวรวมทั้งท่าอากาศยานตากจากกรมท่าอากาศยานมาบริหาร[9] และกรมท่าอากาศยานได้รวบรวมข้อมูลและเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน[10] เพื่อที่จะได้เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยและ ทอท. เข้าบริหารสนามบินทั้งสี่ได้อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562[11]

โดย บมจ. ท่าอากาศยานไทยเปิดเผยว่าได้วางแผนให้ท่าอากาศยานตากเป็นสนามบินสำหรับขนส่งสินค้าทางอากาศ ไม่เน้นการรับส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่าเพื่อที่จะไม่แข่งขันกับท่าอากาศยานแม่สอดของกรมท่าอากาศยาน[5] อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน 2561 หอการค้าจังหวัดตาก, กำแพงเพชร และสุโขทัย ได้ร่วมกันเสนอให้สายการบินนกแอร์ (ซึ่งมีเครื่องบินขนาดเล็กจึงสามารถใช้งานรันเวย์ปัจจุบันของท่าอากาศยานตากที่มีความยาวเพียง 1,500 เมตรได้) พิจารณาเปิดเส้นทางเที่ยวบินโดยสารระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานตาก[12][13] แต่ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน บมจ.ท่าอากาศยานไทยได้แจ้งว่าจะไม่พัฒนาท่าอากาศยานตากในด้านการขนส่งผู้โดยสาร โดยอ้างว่ามีอุปสงค์ไม่ถึงหนึ่งล้านคนต่อปี[11] (ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ท่าอากาศยานในพื้นที่อื่นโดยรอบ ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก มีผู้โดยสารขาเข้าและขาออกรวมประมาณ 6 แสนคนต่อปี และท่าอากาศยานแม่สอดมีประมาณ 2 แสนคนต่อปี[14]) และจะมุ่งเน้นพัฒนาในด้านการรองรับขนส่งอากาศยานโดยเฉพาะ ด้านกระทรวงคมนาคมได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้สนามบินทั้ง 4 แห่งที่จะโอนให้ ทอท. นั้นรองรับด้านการท่องเที่ยวด้วย และให้ ทอท. ทำแผนการดำเนินการรับโอนและบริหารท่าอากาศยานตากใหม่[15] ต่อมาเดือนกันยายน 2561 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินการโอนสนามบินให้ ทอท. แล้ว โดยที่ ทอท. จะเข้าพัฒนาท่าอากาศยานตากทั้งในด้านการขนส่งและการรองรับนักท่องเที่ยว[16]

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2562 กรมท่าอากาศยาน และกระทรวงคมนาคมซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เปลี่ยนแปลงแผนการ โดยจะให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย เข้าบริหารท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ในลักษณะการบริหารสัญญาร่วม หรือการจ้าง บมจ. ท่าอากาศยานไทย บริหารจัดการ โดยไม่ต้องมีการประมูล และกรมท่าอากาศยานยังคงเป็นเจ้าของสนามบินทั้งสามแห่งดังกล่าว[17]

ใกล้เคียง

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส-ชาร์ล เดอ โกล ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท่าอากาศยานตาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/783260 //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.airports.go.th/th/content/349/1659.html http://www.aviation.go.th/tak/tak%20airport.html http://research.culture.go.th/ebook/nt142/files/as... https://web.facebook.com/taksociety/photos/a.50863... https://www.posttoday.com/economy/556549 https://www.thansettakij.com/content/409033 https://www.mcot.net/view/5b433c84e3f8e4f60986253e https://www.prachachat.net/property/news-74654