ท้าวแสนปม

ท้าวแสนปม เป็นตำนานพื้นบ้านจังหวัดกำแพงเพชร และแพร่กระจายออกไปจนทั่วภาคกลางตอนบน ปรากฏในพงศาวดารต่าง ๆ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พงศาวดารโยนก สิงหนวัติกุมาร และจุลยุทธการวงศ์[1] เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องท้าวแสนปมนี้เป็นบทละครรำไว้เมื่อ พ.ศ. 2456 ต่อมาใน พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาล ก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์ในรูปแบบของบทละครดึกดำบรรพ์ออกมาอีกครั้ง ในบทพระราชนิพนธ์ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในตำนานที่ดำเนินไปตามอิทธิฤทธิ์ การดลบันดาลของเทพ เทวดา ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงวิเคราะห์ประกอบกับการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์[2] ตำนานระบุว่าท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา[3]