ความหมาย ของ ธงชาติทิเบต

  • ธงกิเลน ศตวรรษที่ 7 ธงประจำพระจักรพรรดิ์ทิเบต ซองเซน แกมโป
  • ธงทิเบต ค.ศ. 1920-1925

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ได้อธิบายหมายของธงชาติทิเบตไว้ดังนี้[4]

  • รูปสามเหลี่ยมสีขาวที่กลางธงแทนภาพภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะในทิเบต หมายถึง ความยิ่งใหญ่ของประเทศทิเบต อันได้ชื่อว่าเป็น "ดินแดนที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหิมะ" (Land Surrounded by Snow Mountains)
  • บนพื้นสีน้ำเงินเข้มมีรัศมีสีแดง 6 เส้นฉายออกมาจากยอดภูเขาหิมะ หมายถึง ชนเผ่าอันเป็นบรรพบุรุษแห่งชาวทิเบตทั้ง 6 เผ่า ได้แก่ เผ่าเซ (Se) เผ่ามู (Mu) เผ่าดง (Dong) เผ่าตง (Tong) เผ่าดรู (Dru) และเผ่ารา (Ra) ซึ่งได้มีผู้สืบเชื้อสายต่อมาถึง 12 สาย และส่วนพื้นสีน้ำเงินเข้มนั้นหมายถึงท้องฟ้า
  • บนยอดภูเขาหิมะนั้นมีดวงอาทิตย์เปล่งรัศมีไปทุกทิศ หมายถึง ความยินดีในเสรีภาพ ความสุขทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ และความสุขสมบูรณ์ของทุกชีวิตในดินแดนทิเบต
  • ที่ฐานของภูเขาหิมะสีขาว มีรูปกิเลนหรือสิงโตหิมะยืนหันหน้าเข้าหากัน เท้าหน้าข้างหนึ่งของกิเลนแต่ละตนนั้นชูคบไฟแห่งความไม่หวาดหวั่น หมายถึง ความสำเร็จอย่าผู้มีชัยในการรวมวิถีชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมเข้าไว้ด้วยกัน
  • แก้วมณีสามดวงอันงดงามและเปล่งประกายอยู่ในดวงไฟที่กิเลนคู่ชูไว้ หมายถึงพระรัตนตรัย หรือดวงแก้วทั้งสามในพระพุทธศาสนา คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวทิเบตทั้งมวล
  • ดวงแก้วทรงกลมภายในเป็นลายเกลียวสองสี ซึ่งอยู่ระหว่างเท้าหน้าของกิเลนทั้งสอง อันมีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์หยิน-หยางของลัทธิเต๋า หมายถึง หลักการปกป้องและคุ้มครองตนของมนุษย์ในการดำรงตนอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
  • ขอบธงสีเหลืองที่ล้อมรอบสามด้าน หมายถึง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอันบริสุทธิ์ ซึ่งแพร่หลายและเจริญรุ่งเรืองไปทั่วในทุกสารทิศ
  • ขอบธงด้านที่ไม่มีขอบสีเหลือง หมายถึง ทิเบตมีความเปิดกว้างต่อลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา [5]