ประวัติ ของ ธงชาติทิเบต

การออกแบบ

กองทหารราบทิเบต เชิญธงประจำกองเข้าพิธีสวนสนาม ในกรุงลาซา ค.ศ. 1938.

ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ดินแดนทิเบตนั้นไม่มีกองทัพของตนเองประจำการ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากที่จักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ชิงได้ป้องกันทิเบตไว้จากการรุกรานของเนปาล ในฐานะที่ทิเบตเป็นดินแดนประเทศราช รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงได้ออกมาตรการ 29 ข้อ ซึ่งเรียกว่า "ข้อบังคับยี่สิบเก้าประการเพื่อการปกครองที่ดีกว่าในทิเบต" ("Twenty-Nine Regulations for Better Government in Tibet")[3]

ในข้อที่สี่ของมาตรการดังกล่าว ได้ระบุว่า

"การขาดแคลนกองทหารของทางการในภูมิภาคทิเบตได้นำมาซึ่งการเกณฑ์ทหารอย่างฉุกเฉินในห้วงเวลาอันวิกฤต ซึ่งเป็นที่มาของความเดือดร้อนแห่งราษฎรชาวทิเบต องค์จักรพรรดิจึงได้มีพระบรมราชโองการให้ดินแดนทิเบตจัดตั้งกองทหารขึ้น โดยมีกำลังพลรวม 3,000 คน ให้แบ่งกำลังดูแลชายแดนด้านหน้า 1,000 คน ดูแลชายแดนด้านหลัง 1,000 คน ให้รักษาเมือง Shigatse และเมือง Dingri เมืองละ 500 คน"

กองทหารทั้ง 3,000 คนนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ กองทหารราบทิเบต ("Tibetan Infantry") โดยที่มีการพิจารณาว่า ธงประจำกองทหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการฝึกทหารประจำวัน รัฐบาลจีนส่วนกลางจึงมีคำสั่งให้กองทหารราบทิเบตใช้ "ธงกิเลน" เป็นธงประจำกองทัพ ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จากการที่รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตยังคงใช้ "ธงกิเลน" นี้เป็นสัญลักษณ์ของตนอย่างเป็นทางการ