ความหมายและการออกแบบ ของ ธงชาติสหภาพโซเวียต

แบบการสร้างธงชาติสหภาพโซเวียต

ในวัฒนธรรมรัสเซีย สีแดงเป็นสีที่มีความหมายในเชิงบวก คำว่า "แดง" (รัสเซีย: красный, krasny) มีที่มาที่เกี่ยวข้องกับคำว่า "ดีมาก" และ "ดีที่สุด" ในภาษารัสเซีย เช่นเดียวกับคำว่า "งดงาม" สิ่งนี้สามารถเห็นได้จากชื่อของจัตุรัสแดงในกรุงมอสโก และพีธีอีสเตอร์แดงของชาวคริตส์ในนิกายออร์โธดอกส์ในรัสเซีย

ในธงนี้สามารถแลเห็นอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ชัดเจน พื้นสีแดงกล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของเลือดที่รินไหลของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา รูปดาวแดงและค้อนเคียวหมายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิสังคมนิยม โดยรูปค้อน หมายถึงชนชั้นกรรมาชีพหรือแรงงานอุตสาหกรรม รูปเคียวหมายถึงชนชั้นชาวนาหรือเกษตรกร ดาวแดงขอบทองหมายถึงกฎของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชี้นำระบอบการปกครองของประเทศ รูปเหล่านี้ประดับไว้ที่บริเวณมุมธงบนด้านคันธง ส่วนด้านหลังธงนั้น ตามแบบของรัฐบาลสหภาพโซเวียตจะเป็นพื้นสีแดงไม่มีรูปสัญลักษณ์ใดๆ หรืออาจจะมีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีรูปสัญลักษณ์แบบเดียวกับด้านหน้าธง โดยวางตำแหน่งให้รูปดังกล่าวหันกลับด้าน [3]

แบบของธงได้กำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจนในปี พ.ศ. 2498 เพื่อให้สามารถกำหนดลักษณะและสรางธงได้ง่ายขึ้น การกำหนดแบบธงครังนี้ได้แก้ให้ความยาวของด้ามค้อนมากขึ้น และแก้รูปทรงของเคียวเสียใหม่ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายธงดังนี้[4]

  1. สัดส่วนกว้างยาวธงคือ 1:2
  2. รูปค้อนเคียวจัดรวมกันในโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งกว้างเป็น 1 ใน 4 ของส่วนกว้างธง ปลายแหลมของเคียวนั้นให้อยู่ตรงกึ่งกลางของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตอนบน ปลายด้ามค้อนและเคียวอยู่ตรงมุมล่างของสี่เหลี่ยมจตุรัสแต่ละด้าน ความยาวของด้ามค้อนนั้นเป็น 3 ใน 4 ของความยาวทแยงมุมของรูปสี่เหลี่ยม
  3. ดาวห้าแฉกจัดอยู่ในโครงสร้างรูปวงกลมขนาด 1 ใน 8 ส่วนของด้านกว้างธง ขอบวงกลมนั้นสัมผัสกับด้าบนของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  4. ระยะห่างของแกนตั้งแห่งรูปดาวและค้อนเคียวจากด้านคันธงเป็น 1 ใน 3 ส่วน ของด้านกว้างธง และระยะห่างจากริมธงตอนบนเป็น 1 ใน 8 ส่วนของด้านกว้างธง

แบบธงที่มีการแก้ไขครั้งสุดท้ายได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2523 โดยเป็นการแก้พื้นสีแดงให้มีความสว่างขึ้น