ประวัติธงชาติอิรัก ของ ธงชาติอิรัก

พ.ศ. 2464–2502

พ.ศ. 2464- 2502 (สัดส่วนธง: 1:2)

ธงชาติแบบแรกสุดของประเทศอิรัก กำหนดให้มีขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งประเทศในปี พ.ศ. 2464 โดยเป็นรัฐอารักขาเมโสโปเตเมียของสหราชอาณาจักร ลักษณะเป็นธงสามสีพื้นสีดำ-ขาว-เขียว ที่ด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมคางหมูในแนวตั้งพื้นสีแดง (บางแบบก็เป็นรูปสามเหลี่ยมก็มี) ในพื้นสีแดงนั้นมีดาว 7 แฉก 2 ดวง เรียงกันในแนวตั้ง หมายถึงทั้ง 14 จังหวัดของราชอาณาจักรอิรักในขณะนั้น สังเกตได้ว่า ธงนี้มีความคล้ายคลึงกับธงชาติจอร์แดนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าสีในธงทั้งหมดนั้น บรรดาเจ้าผู้ครองนคร (Hashemite leaders) ในการปฏิวัติอาหรับ ซึ่งเป็นผู้สถาปนาประเทศนี้ เป็นผู้เลือกให้ใช้ในธงชาติอิรัก ธงนี้มีการใช้มาตลอดสมัยที่อิรักปกครองด้วยระบอบกษัตริย์จนถึง พ.ศ. 2502 ซึ่งในหมู่พวกนิยมกษัตริย์ในอิรัก ก็ยังมีการใช้ธงนี้อยู่

พ.ศ. 2502–2506

พ.ศ. 2502- 2506 (สัดส่วนธง: 1:2)

หลังจากการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้การนำของอิบด์ อัล-คะริม กอซิม (Abdul Karim Qassim) ในปี พ.ศ. 2501 ประเทศอิรักก็ได้มีการออกกฎหมายเลขที่ 102 ค.ศ. 1959 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 ให้ใช้ธงชาติอย่างใหม่ของสหพันธรัฐอาหรับอิรักและจอร์แดน ซึ่งมีลักษณะเป็นธงสามสีแนวตั้ง พื้นสีดำ-ขาว-เขียว ที่กลางแถบสีขาวนั้นมีรูปดาว 8 แฉกสีแดง 1 ดวง ภายในมีวงกลมสีเหลือง ความหมายของสีดำและสีเขียวคือเป็นสีพันธมิตรอาหรับ ดวงตะวันสีเหลืองหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ส่วนดาว 7 แฉกสีแดงนั้นหมายถึงชนกลุ่มน้อยชาวอัสซีเรีย

ธงชาติแบบดังกล่าวนี้ ได้รับอนุญาตให้ใช้ชักในจังหวัดเคอร์ดิชสถาน ซึ่งเป็นเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ส่วนธงในรุ่นหลัง ซึ่งมีการใช้ในกลุ่มสมาชิกพรรคบะอัธ และกลุ่มสมาคมพันธมิตรอาหรับ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้[1][2]

พ.ศ. 2506–2534

พ.ศ. 2506- 2534 (สัดส่วนธง: 2:3)

ต่อมาเมื่อรัฐบาลปฏิวัติของอิบด์ อัล-คะริม กอซิมถูกโค่นอำนาจโดยพรรคบะอัธ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงธงชาติอิรักอีกครั้งหนึ่ง ตามกฎหมายเลขที่ 28 ค.ศ. 1963 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 ธงแบบใหม่นี้เป็นธงริ้วสามสีแนวนอนพื้นสีแดง-ขาว-ดำ มีดาว 5 แฉกสีเขียว 3 ดวง ในแถบสีขาว ซึ่งดาวสีเขียว 3 ดวงในธงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของอิรักในการเข้าร่วมสหสาธารณรัฐอาหรับ อันเป็นสหภาพทางการเมืองช่วงสั้น ๆ ระหว่างอียิปต์และซีเรีย[3] ภายหลังซีเรียซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกับอิรักได้รับเอาธงชาติอิรักในยุคนี้ไปใช้เป็นธงชาติตัวเองจนถึงปี พ.ศ. 2514 เมื่อดาวสีเขียวบนธงชาติซีเรียถูกแทนที่ด้วยเหยี่ยวแห่งกุเรช ตราแผ่นดินของซีเรีย[4]

พ.ศ. 2534–2547

พ.ศ. 2534–2547 (สัดส่วนธง: 2:3)

ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2534 ได้มีการเปลี่ยนแปลงธงชาติอิรักอีกครั้ง โดยธงชาติมีลักษณะคล้ายกับธงชาติยุค พ.ศ. 2506 แต่มีการเปลี่ยนนิยามความหมายของดาว 3 ดวงในธง ให้หมายถึงหลัก 3 ข้อคำขวัญของพรรคบะอัธ คือ เอกภาพ เสรีภาพ สังคมนิยม (อาหรับ: Wahda, Hurriyah, Ishtirakiyah) และเพิ่มข้อความอักษรคูฟิก ภาษาอาหรับ แทรกระหว่างดาวสีเขียว 3 ดวงว่า "อัลลอหุ อักบัร" โดยประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน เป็นผู้ออกคำสั่งให้เพิ่มข้อความข้างต้น แม้จะไม่เป็นที่ยืนยันนัก แต่ก็มีการกล่าวกันว่า ข้อความอักษรคูฟิกดังกล่าวเป็นลายมือของซัดดัม ฮุสเซนเอง ทั้งยังมีอีกหลายคนตีความกันว่า ที่ซัดดัมทำเช่นนี้ก็เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากโลกอิสลามในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (พ.ศ. 2534)

พ.ศ. 2547–2551

พ.ศ. 2547–2551 (สัดส่วนธง: 2:3)

หลังการสิ้นอำนาจของซัดดัมใน พ.ศ. 2547 ได้มีการเสนอธงชาติแบบใหม่ให้แทนธงเดิมในเดือนเมษายนปีเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยมีการนำมาใช้แต่อย่างใด (ดูเพิ่มเติมข้างล่าง) ต่อมาในพิธีการส่งมอบอำนาจแก่รัฐบาลรักษาการของอิรัก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2547 นั้น ได้มีการตกแต่งเวทีโดยใช้ธงซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับธงชาติแบบเดิม กล่าวคือ เป็นธงสามสีแนวนอนพื้นสีแดง-ขาว-ดำ กลางแถบสีขาวมีรูปดาวสีเขียว 3 ดวง ระหว่างดาวทั้งสามมีข้อความภาษาอาหรับ เขียนด้วยอักษรคูฟิกว่า "อัลลอหุ อักบัร" ในลักษณะเป็นอักษรตัวเหลี่ยมสมัยใหม่ ธงชาติอิรักแบบแก้ไขเพิ่มเติมนี้ได้มีการเชิญขึ้นสู่ยอดเสาที่สถานทูตอิรักในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2547[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธงชาติอิรัก http://www.cnn.com/2004/WORLD/meast/06/28/iraq.han... http://www.crwflags.com/fotw/flags/il!1948.html http://www.foxnews.com/story/0,2933,124329,00.html http://www.syrianhistory.com/syrian-flag http://www.todayszaman.com/tz-web/detaylar.do?load... http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/articles/A434... http://english.aljazeera.net/NR/exeres/94E338BA-2C... http://www.radionetherlands.nl/currentaffairs/0801... http://www.commondreams.org/headlines04/0428-03.ht... http://memri.org/bin/articles.cgi?Page=archives&Ar...