การจัดประเภทของโครงสร้างทางธรณีวิทยา ของ ธรณีวิทยาโครงสร้าง

โครงสร้างทางธรณีวิทยา (Geological Structure) หมายถึง “ลักษณะรูปทรงเรขาคณิตที่เด่น ๆ (Geometric Feature) ที่มีรูปร่าง (Shape) รูปทรงสัณฐาน (Form) การกระจายหรือการวางตัว (Distribution) ที่สามารถบรรยายลักษณะเหล่านั้นได้” โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว 8 โครงสร้าง ได้แก่ รอยเลื่อน รอยแยก รอยแตกเฉือน ชั้นหินคดโค้ง แนวแตกเรียบ ริ้วขนาน โครงสร้างแนวเส้น และเขตรอยเฉือน และจากนิยามของโครงสร้างที่ได้กล่าวมาแล้ว สามารถจัดแบ่งเป็นประเภท ๆ เช่น

การจัดแบ่งโดยพิจารณาการยึดเกาะเมื่อมีการเปลี่ยนลักษณะ (Cohesion During Deformation)

โดยพิจารณามาตราส่วนแบบ Mesoscopic แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โครงสร้างการเปลี่ยนลักษณะแบบเปราะ (Brittle Deformation Structures) เป็นโครงสร้างที่สูญเสียการยึดเกาะระหว่างผิว
  2. โครงสร้างการเปลี่ยนลักษณะแบบอ่อนนิ่ม หรือพลาสติก (Ductile or Plastic Deformation Structures) เป็นโครงสร้างที่สูญเสียการยึดเกาะระหว่างผิว
  3. โครงสร้างการเปลี่ยนลักษณะแบบกึ่งเปราะ หรือ กึ่งอ่อนนิ่ม (Semi brittle or Semi ductile Deformation Structures) พบทั้งสองลักษณะคือเปราะและอ่อนนิ่มในโครงสร้างเดียวกัน

การจัดแบ่งโดยพิจารณารูปทรงทางเรขาคณิตที่ปรากฏของโครงสร้าง (Geometry)

การจัดแบ่งโดยพิจารณารูปทรงทางเรขาคณิตที่ปรากฏของโครงสร้าง (Geometry) แบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โครงสร้างแบบระนาบตรงและระนาบโค้ง (Planar and Curiviplanar Structures) ได้แก่ รอยเลื่อน รอยแยก แนวแตกเรียบ ริ้วขนาน เป็นต้น
  2. โครงสร้างแนวเส้น (Lineation Structures) ได้แก่ แนวการเรียงตัวของเม็ดแร่ รอยครูด แนวตัดกันของระนาบสองระนาบ เป็นต้น

การจัดแบ่งโดยพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดโครงสร้าง (Geologic Significance)

การจัดแบ่งโดยพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดโครงสร้าง (Geologic Significance) แบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โครงสร้างปฐมภูมิและโครงสร้างที่ไม่เกิดจากผลของกระบวนการแปรสัณฐาน (Primary and Non Tectonic Structures) ได้แก่ โครงสร้างที่เกิดพร้อมกับหิน (Primary Structures) โครงสร้างที่เกิดจากเลื่อนไถลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก (Local Gravity Driven Structures) โครงสร้างที่เกิดจากการปูดของโดมเกลือหรือโคลน (Local Density-Inversion Driven Structures) เนื่องจากมีน้ำหนักกดทับที่มีความแน่นสูงมากกว่า ทำให้เกลือหรือโคลนที่มีความหนาแน่นน้อยที่อยู่ข้างล่างปะทุหรือปูดขึ้นเป็นโดม หรือรูปร่างต่าง ๆ รวมทั้งโครงสร้างที่เกิดจากผลของการหายไปของแรงดัน (Pressure Release Structures)
  2. โครงสร้างที่เกิดจากผลของกระบวนการแปรสัณฐาน (Tectonic Structures) หรือโครงสร้างทุติยภูมิ (Secondary Structures) เป็นโครงสร้างที่เกิดจากแรงที่เป็นผลจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก (Plate Tectonics) ธรณีวิทยาโครงสร้างเบื้องต้น

การจัดแบ่งโดยพิจารณาจากผลของการกระจายตัวจากการเปลี่ยนลักษณะในเนื้อหิน (Distribution of Deformation in a Volume of Rock)

การจัดแบ่งโดยพิจารณาจากผลของการกระจายตัวจากการเปลี่ยนลักษณะในเนื้อหิน (Distribution of Deformation in a Volume of Rock) ซึ่งการพิจารณาประเภทนี้ขึ้นอยู่กับมาตราส่วนที่พิจารณา กรณีแบบทะลุทะลวงหากพิจารณาหินจากหินตัวอย่างเป็นแบบทะลุทะลวง แต่หากพิจารณาจากกล้องจุลทรรศน์เป็นแบบไม่ต่อเนื่อง เป็นต้น แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โครงสร้างที่การเปลี่ยนลักษณะแบบต่อเนื่องทะลุทะลวงทั่วทั้งเนื้อหิน (Penetrative) เช่น แนวแตกเรียบแบบหินชนวน ริ้วขนานในหินชีสต์ หรือริ้วขนานในหินไนส์
  2. โครงสร้างแบบไม่ต่อเนื่อง เกิดเฉพาะส่วน (Discrete)
  3. โครงสร้างแบบเฉพาะที่ (Localized) จะเป็นโครงสร้างที่เป็นแบบต่อเนื่องหรือทะลุทะลวง แต่พบในบริเวณที่แคบ ๆ มีขอบเขต เช่น แนวแตกเรียบตามแนวรอยเฉือน

การจัดแบ่งโดยพิจารณาจากผลของความเครียด (Strain Significance)

การจัดแบ่งโดยพิจารณาจากผลของความเครียด (Strain Significance) แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. โครงสร้างที่เป็นผลจากการหดสั้น (Contractional Structures) เช่น โครงสร้างการคดโค้ง โครงสร้างจากการเลื่อยแบบรอยเลื่อนย้อน
  2. โครงสร้างที่เป็นผลจากการยืด (Extensional Structures) เช่น โครงสร้างจากการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ
  3. โครงสร้างที่เป็นจากการเคลื่อนที่ไม่เกิดการยืดหรือหด (Strike-slip Structures) เช่น โครงสร้างจากการเลื่อนแบบรอยเลื่อนด้านข้าง (Strike-slip Faults)