ตัวอย่างพระสูตร ของ ธรรมจักรสูตร

ในที่นี้เป็นตัวอย่างพระสูตรที่มีเนื้อหาตรงหรือใกล้เคียงกับธัมมจักกัปปวัตนสูตรพระสูตรหนึ่ง ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกภาษาจีน คือ ธรรมจักรสูตร ซึ่งแปลเป็นฉบับย่อ อยู่ในหมวดเอโกตตราคม ของพระไตรปิฎกภาษาจีน ซึ่งหมวดเอโกตราคม หมายถึงอังคุตรนิกาย ของพระไตรปิฎกภาษาบาลี [20]

พระสูตรนี้ในภาษาจีนเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า พรหมธรรม (非梵法) หรือพรหมจักร หรือธรรมจักรสูตร แปลโดยพระโคตมะ สังฆเทวะ พระภิกษุชาวกัษมีร์ เป็นพระสูตรย่อยๆ รวมกันในเอโกตตรคมจำนวนกว่า 471 สูตร (ธรรมจักรสูตรอยู่ในหมวดเอโกตตราคมสูตร - 增壹阿含經 - ที่ 125 ลำดับที่ 19.2 ของสารบบไตรปิฎกฉบับไทโช) พระสูตรนี้แปลขึ้นที่ภูเขาหลูซาน ในสมัยราชวงศ์ตงจิ้น ในปีแรกแห่งรัชสมัยหลงอัน หรือเมื่อปีค.ศ. 397 มีเนื้อหากระชับ [21]

คาดว่าพระโคตมะ สังฆเทวะ แปลอย่างรวบรัด ทั้งยังใช้ศัพท์แสงของลัทธิเต๋าอธิบายหลักธรรม เพื่อหวังจะเร่งประกาศพระศาสนาในช่วงแรกเผยแผ่ในประเทศจีน และเพื่อให้ชาวจีนเข้าถึงพุทธรรมได้ง่ายขึ้น คาดว่าแปลย่อมาจากตถาคตสูตร ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ของพระสุตตันตปิฎก ทั้งนี้ ต่อมาได้มีการแปลอย่างละเอียดขึ้น เรียกว่าพระสูตรฝอซัวจ่วนฝ่าหลุนจิง (佛說轉法輪經) แปลว่า พุทธองค์ทรงปรารภธรรมจักรปรวารตนะสูตร ซึ่งสัมยุกตคม หมายถึงสังยุตนิกาย ของพระไตรปิฎกภาษาบาลี

ที่พระสูตรนี้เรียกว่า พรหมธรรม หรือพรหมจักร เพราะอ้างอิงไปถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเพิ่งตรัสรู้ ทรงมีปริวิตกว่าพระธรรมนั้นลึกซึ้งเกินกว่าสรรพสัตว์จะเข้าใจได้ จึงน้อมพระทัยไปในทางดับขันธปรินิพพานเสีย ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมต้องกล่าวคำทูลอารธนาให้ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งมวล พระองค์ทรงรับอาราธนา แล้วเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ โดยแสดงพระธรรมจักรสูตรนี้ ด้วยเหตุนี้ พรหมธรรม หรือพรหมจักร จึงเป็นอีกนามหนึ่งของธัมมจักกัปปวัตนสูตร [22]

ใกล้เคียง

ธรรมจักร ธรรมจักรสูตร ธรรมจักษุ ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ธรรมชาติ ธรรมนัส พรหมเผ่า ธรรมกาย ธรรมยุติกนิกาย ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ธรรมเนียมพระยศและบรรดาศักดิ์ในราชวงศ์โชซ็อน