การปกครอง ของ นครรัฐแพร่

การปกครองในสมัยนครแพร่ในรัชสมัยราชวงศ์เทพวงศ์ แม้นครแพร่และล้านนาจะเป็นประเทศราชของสยาม แต่สยามก็ไม่เคยเข้ามาปกครองล้านนาโดยตรง เมืองต่าง ๆ ของล้านนายังคงปกครองตนเองในลักษณะนครรัฐ รวมทั้งระยะทางที่ห่างไกลและยากลำบากจากกรุงเทพฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามไม่ได้ใกล้ชิดนัก อีกทั้งในภาคเหนือ ยังมีเทือกเขา ทอดยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ยอดเขาแต่ละแห่งสูงไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ไม่สะดวกนัก นครแพร่จึงมีอำนาจในการปกครองตนเอง เจ้านครประเทศราชออกกฎหมายภายในนครของตนเอง โดยมีลำดับขั้นในการบริหารในนครประเทศราชต่าง ๆ มีสามขั้น ได้แก่

  1. เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ
  2. เค้าสนาม (สภาขุนนาง)
  3. นายบ้าน (หัวหน้าหมู่บ้าน)

เจ้าห้าขัน

การปกครองเจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ เป็นระบบการปกครองแบบคณาธิปไตย เป็นกลุ่มผู้ปกครองสูงสุด ประกอบด้วยเจ้าหลวงของนครประเทศราชนั้น ๆ เป็นประมุข และเจ้าอื่น ๆ อีก 4 ตำแหน่ง โดยเจ้าห้าขัน เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การสืบตำแหน่งเจ้าห้าขันนั้น จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูลของเจ้านาย จะต้องเป็นเชื้อสายเจ้านายสำคัญ มีอิทธิพล มั่งคั่ง มีข้าทาสบริวารจำนวนมาก เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร และมีราชสำนักสยามเป็นผู้รับรองการแต่งตั้ง แต่ในนครแพร่เจ้าขันห้าใบจะมีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระยา และเจ้านายในตำแหน่งรองลงไปมีบรรดาศักดิ์เป็นพระ ต่อมามีการยกเจ้าผู้ครองนครแพร่ขึ้นเป็นเจ้า แต่ก็เป็นการยกขึ้นเฉพาะองค์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นเจ้าทั้งหมดแบบนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน และนครน่าน

เจ้าขันห้า มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ได้แก่

  1. พระยานคร (เจ้าหลวง) ศักดินา 8,000 ไร่ ต่อมามีเลื่อนเฉพาะองค์ขึ้นเป็นเจ้านคร คือ เจ้าพิริยเทพวงษ์ ศักดินา 10,000 ไร่
  2. พระยาอุปราช (พระยาหอหน้า) ศักดินา 3,000 ไร่
  3. พระยาราชวงศ์ (พระยาราชวงศาธิราชลือไชย) ศักดินา 2,500 ไร่
  4. พระยาบุรีรัตน์ (พระยารัตนหัวเมืองแก้ว หรือ พระยาหอหลัง) ศักดินา 2,000 ไร่
  5. พระยาราชบุตร ศักดินา 2,000 ไร่

เจ้าระดับรองลงมามีบรรดาศักดิ์เป็นพระ ได้แก่

  1. พระสุริยะจางวาง ศักดินา 1,000 ไร่
  2. พระอุตรการโกศล ศักดินา 1,000 ไร่
  3. พระไชยสงคราม ศักดินา 1,000 ไร่
  4. พระเมืองราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  5. พระเมืองไชย ศักดินา 1,000 ไร่
  6. พระเมืองแก่น ศักดินา 1,000 ไร่
  7. พระอินทราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  8. พระจันทราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  9. พระภิไชยราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  10. พระวิไชยราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  11. พระไชยราชา ศักดินา 1,000 ไร่
  12. พระวังขวา ศักดินา 1,000 ไร่
  13. พระวังซ้าย ศักดินา 1,000 ไร่
  14. พระวังขวา ศักดินา 1,000 ไร่
  15. พระคำลือ ศักดินา 1,000 ไร่
  16. พระถาง ศักดินา 1,000 ไร่[3]

เค้าสนามหลวง

โครงสร้างทางการเมืองที่รองจากเจ้าห้าขัน คือ เค้าสนามหลวง หรือ ที่ประชุมเสนาอำมาตย์ เป็นหน่วยบริหารราชการ มักเป็นเจ้านายชั้นรองและขุนนางที่แต่งตั้งโดยเจ้าห้าขัน มีหน้าที่ตัดสินคดีความ จัดเก็บภาษี และต้อนรับแขกเมือง กลุ่มขุนนางที่เข้ารับราชการซึ่งมีตำแหน่งเป็น พญา ท้าว แสน ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานทั่วทั้งเมือง มี 4 ตำแหน่ง เรียกว่า พ่อเมืองทั้ง 4 ได้แก่
  • พระยาแสนหลวง
  • พระยาจ่าบ้าน
  • พระยาสามล้าน
  • พระยาเหล็กชาย (อาจเรียกว่า พญาเด็กชาย)

โดยผู้ที่ได้รับตำแหน่งพ่อเมืองมีชื่อแตกต่างกันตามนามที่เจ้าหลวงตั้งให้และอาจมีคำนำหน้าเป็นท้าว พญา หรือแสนอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ชื่อของพระยาแสนหลวงจะมีคำว่าหลวงอยู่ด้วยเสมอเช่น แสนหลวงธนันไชย, ท้าวหลวงเมืองแพร่ พระยาหลวงคำพิมเมือง สำหรับพ่อเมืองในตำแหน่งอื่นๆอีกสามตำแหน่งนั้นไม่มีคำว่าหลวงนำหน้าเช่น พระยาไชยประเสริฐ แสนรามไชย พระยาแขก พระยาขัตติยะ พระยาอินทประสงค์ เป็นต้น

  1. กลุ่มเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเฉพาะทั่วไป มี 8 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาทั้ง 8 ได้แก่
  • แสนหนังสือ
  • ท้าวหมื่นวัดใหญ่
  • พระยาหัวเมืองแก้ว

ซึ่งสามารถค้นพบเพียง 3 ตำแหน่งเท่านั้นส่วนตำแหน่งอื่นๆพบแต่ชื่อไม่สามารถที่จะระบุตำแหน่งได้ ตัวอย่างของเสนาทั้ง 8 เช่น แสนอินทปัญญา แสนเทพสมศักดิ์ แสนจิตปัญญา แสนเสมอใจ ท้าวไชยยาวุธ ท้าวแสนพิง พระยาวังใน พระยาเมืองมูล พระยาสุพอาษา เป็นต้น [4]


หมู่บ้าน

โครงสร้างระดับล่าง คือ หมู่บ้าน ในเมืองต่าง ๆ ประกอบด้วยหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามขนาดของเมือง การปกครองระดับหมู่บ้านมีความสำคัญมาก เพราะหมู่บ้านเป็นหน่วยการผลิตที่แท้จริงที่เลี้ยงดูเมืองและชนชั้นปกครอง ในแต่ละหมู่บ้าน มีผู้ปกครองเป็น ซึ่งผู้ปกครองหมู่บ้านมีตำแหน่งเป็น จ่า, หมื่น, แสน และ พญา[5] อาจขึ้นตรงต่อเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งหรือเค้าสนาม นายบ้านทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้านและเป็นตัวกลางระหว่างเจ้านายกับชาวบ้านในการเรียกเกณฑ์กำลังคน เมื่อมีคำสั่ง (อาดยา) จากเจ้านาย ซึ่งเป็นการเกณฑ์ไปเพื่อทำงาน หรือทำสงคราม ตลอดจนรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งส่วยให้กับเจ้านาย ดูแลความสงบในพื้นที่ ตลอดจนตัดสินคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน ในพื้นที่ห่างไกล[6]