ประวัติ ของ นอสตราดามุส

วัยเด็ก

นอสตราเดมัสเกิดที่เมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ แคว้นพรอว็องซาลป์-โกตดาซูร์ ประเทศฝรั่งเศส เชื่อว่าที่เกิดของเขายังมีอยู่ในบัดนี้ นอสตราเดมัสเป็นบุตรคน 1 ของเรอเน เดอ แซ็ง-เรมี (Renée de Saint-Rémy) หรือเรนีแยร์ เดอ แซ็ง-เรมี (Reynière de Saint-Rémy) กับฌัก เดอ โนสทร์ดาม (Jacques de Nostredame) หรือโฌม เดอ โนสทร์ดาม (Jaume de Nostredame) ฌักเป็นพ่อค้าข้าวและพนักงานรับรองเอกสาร นอสตราเดมัสมีพี่น้องอย่างน้อย 8 คน ครอบครัวของฌักมีเชื้อสายยิวด้วย แต่กี กาโซเน (Guy Gassonet) บิดาของฌัก และปู่ของนอสตราเดมัส เข้ารีตเป็นคาทอลิกในราวปี 1455 แล้วเปลี่ยนชื่อแซ่เป็น ปีแยร์ เดอ โนสทร์ดาม (Pierre de Nostredame) ชื่อสกุลนี้ปรากฏว่า ตั้งตามวันพระที่มีการทำพิธีเข้ารีต[6][7][8]

เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับวัยเด็กของนอสตราเดมัสนั้นมีให้รู้ไม่มาก มีผู้สันนิษฐานว่า นอสตราเดมัสเล่าเรียนกับฌ็อง เดอ แซ็ง-เรมี (Jean de Saint-Rémy) ผู้เป็นตา ตามธรรมเนียมที่ถือสืบกันมา[9] แต่ธรรมเนียมนี้ดูจะขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ฌ็องไม่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกเลยหลังจากปี 1504 ซึ่งเป็นเวลาที่นอสตราเดมัสผู้เป็นหลานกำลังมีอายุได้ 1 ปี[10]

วัยเรียน

เมื่ออายุได้ 15 ปี[2] นอสตราเดมัสได้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอาวีญง (University of Avignon) และคงได้เล่าเรียนวิชาในกลุ่มไตรศิลปศาสตร์ตามแบบแผน คือ ไวยากรณ์ วาทศาสตร์ และตรรกศาสตร์ มากกว่ากลุ่มจตุรศิลปศาสตร์ คือ เรขาคณิต คณิตศาสตร์ สังคีตศาสตร์ และโหราศาสตร์ แต่เรียนไปไม่ถึงปีก็จำต้องอพยพจากเมืองอาวีญง เพราะกาฬโรคระบาดจนต้องปิดมหาวิทยาลัย เมื่อไปจากเมืองอาวีญงแล้ว นอสตราเดมัสเตร็ดเตร่อยู่ตามชนบทเพื่อวิจัยสมุนไพรและประกอบอาชีพเป็นเภสัชกรถึง 8 ปีตั้งแต่ปี 1521 ครั้นปี 1529 เขาเข้าศึกษาแพทยศาสตร์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมงเปอลีเย (University of Montpellier) แต่เมื่อกีโยม รงเดอเล (Guillaume Rondelet) อธิการบดี ทราบว่า เขาเป็นเภสัชกร ซึ่งเป็น "การค้าทางหัตถกิจ" (manual trade) ที่ธรรมนูญมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต อธิการบดีก็ไล่เขาออกทันที[11] คำสั่งไล่ออกเลขที่ BIU Montpellier, Register S 2 folio 87 ยังมีอยู่ที่หอสมุดคณะในปัจจุบัน[12] กระนั้น แม้เขาไม่จบแพทยศาสตร์ แต่สำนักพิมพ์และผู้สื่อข่าวในภายหลังก็พอใจจะเรียกขานเขาว่า "นายแพทย์"

เมื่อถูกไล่ออกแล้ว สันนิษฐานว่า นอสตราเดมัสยังคงเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเภสัชกรต่อไป เพราะต่อมาเขาเกิดมีชื่อเสียงจากการผลิตยาที่เรียก "ลูกกลอนกุหลาบ" (rose pill) ซึ่งคาดว่า มีสรรพคุณป้องกันกาฬโรค[13]

สมรส

ในปี 1531 จูเลียส ซีซาร์ สแกลีเจอร์ (Julius Caesar Scaliger) พหูสูต ได้เชิญนอสตราเดมัสไปเมืองอาฌ็อง (Agen)[14] ณ ที่นั้น นอสตราเดมัสพบรักและสมรสกับสตรีนาง 1 ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามยังไม่ทราบ แต่คาดว่าเป็น อ็องรีแยต ด็องโกส (Henriette d'Encausse) เขากับภริยามีบุตร 2 คน[15]

ในปี 1534 สันนิษฐานว่า กาฬโรคลง ภริยาและบุตรทั้ง 2 จึงตายสิ้น เป็นเหตุให้นอสตราเดมัสตัดสินใจออกเดินทางต่อไปผ่านประเทศฝรั่งเศสและอาจเข้าไปถึงประเทศอิตาลีด้วย[16]

ในปี 1545 นอสตราเดมัสกลับบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นลูกมือให้ลุย แซร์ (Louis Serre) แพทย์ชื่อดังซึ่งกำลังยับยั้งกาฬโรคที่ระบาดหนักในเมืองมาร์แซย์ จากนั้น นอสตราเดมัสได้เข้ารับมือกับกาฬโรคที่แพร่อยู่ในเมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ (Salon-de-Provence) กับแอ็กซ็องพรอว็องส์ด้วย ที่สุดแล้ว ในปี 1547 นอสตราเดมัสจึงตั้งรกรากที่เมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ เรือนของเขายังมีอยู่ในบัดนี้ ที่เมืองนั้นเขาได้สมรสกับอาน ปงซาร์ด (Anne Ponsarde) เศรษฐินีหม้าย และมีบุตรด้วยกัน 6 คน เป็นหญิง 3 ชาย 3[17]

ในช่วงปี 1556 ถึง 1567 นอสตราเดมัสกับภริยาได้หุ้นในโครงการขุดลอกขนานใหญ่ซึ่งอาด็อง เดอ กราปอน (Adam de Craponne) ดำเนินเพื่อทดน้ำดูว์ร็องส์ (Durance) มาทำชลประทานให้แก่เมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ที่แห้งแล้งเป็นวงกว้าง และให้แก่ทุ่งโคร (plaine de la Crau) ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย[18]

คำทำนาย

นอสตราเดมัสกลับไปเยือนอิตาลีอีกครั้ง ครั้งนี้ เขาเบนเข็มจากสมุนไพรเป็นเรื่องคุณไสย พอได้รับทราบกระแสนิยมหลายกระแสแล้ว เขาก็เขียนกาลานุกรม (almanac) สำหรับปี 1550 ขึ้นเผยแพร่ โดยใช้ชื่อสกุลตนเองเป็นภาษาละตินว่า "Nostradamus" เป็นครั้งแรก กาลานุกรมของเขามียอดขายดีมาก ทำให้เขาเขียนกาลานุกรมอีกหลายฉบับอย่างน้อยปีละเล่ม ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของแต่ละปี แต่บางปีก็เริ่มแต่วันที่ 1 มีนาคม เมื่อรวมกาลานุกรมทั้งหมดแล้ว เป็นคำพยากรณ์จำนวน 6,338 บท และปฏิทินอย่างน้อย 11 ปี[19][20]

ความที่กาลานุกรมประสบความสำเร็จอย่างมากนี้เอง นอสตราเดมัสจึงเริ่มมีชื่อเสียง และบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตาก็เริ่มแห่กันมาร้องขอให้เขาทำนายโชคชะตาราศีให้ รวมถึงขอให้เขาใช้ "ญาณทิพย์" มอบคำปรึกษาให้ นอสตราเดมัสมักให้ "ลูกค้า" ส่งมอบวันเดือนปีเกิดที่เขียนลงบนตารางให้สำหรับใช้ทายทัก มากกว่าจะคำนวณตัวเลขเหล่านั้นด้วยตนเหมือนดังที่นักโหราศาสตร์มืออาชีพพึงทำ และเมื่อจำเป็นต้องคำนวณดังกล่าวตามตารางวันเดือนปีที่เผยแพร่กันอยู่แล้ว ก็ปรากฏว่า เขามักคำนวณพลาด ทั้งยังไม่สามารถกำหนดเลขชะตาให้ตรงกับวันเดือนปีหรือสถานที่เกิดของลูกค้าได้[21][22][lower-alpha 1][23] ฉะนั้น เมื่อนอสตราเดมัสเขียนโคลง 4 พยากรณ์จำนวน 1,000 บท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส จึงไม่ลงวันเวลากำกับไว้อีก[24] โคลงเหล่านี้ทำให้เขามีชื่อเสียงมากมาจนบัดนี้

ในการเขียนโคลงดังกล่าว เขาเกรงว่า จะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลทางศาสนา[25] เขาจึงเขียนให้เนื้อความเคลือบคลุมเข้าไว้ โดยใช้กลวิธีทางวากยสัมพันธ์แบบเวอร์จิล (Virgil) ทั้งยังเล่นคำ และแทรกภาษาอื่น เช่น ภาษากรีก ภาษาอิตาลี ภาษาละติน และภาษาถิ่นพรอว็องส์[26]

โคลง 4 ข้างต้นได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เลพรอเฟซี แปลว่า คำทำนาย เมื่อเผยแพร่แล้วมีเสียงตอบรับในทางบวกบ้างลบบ้างคละกันไป ชาวบ้านเชื่อว่า นอสตราเดมัสเป็นทาสมาร เป็นนักพรตต้มตุ๋น หรือเป็นบ้า แต่พวกผู้ลากมากดีไม่คิดเช่นนั้น แคทเธอรีน เดอ เมดีชี (Catherine de' Medici) มเหสีพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เป็น 1 ในบรรดาผู้เลื่อมใสนอสตราเดมัสอย่างเหนียวแน่นที่สุด นางได้อ่านกาลานุกรมสำหรับปี 1555 ซึ่งแย้มเปรยถึงภัยอันจะมีต่อวงศ์ตระกูลนางแล้ว ก็มีเสาวนีย์เบิกตัวเขามาที่กรุงปารีสเพื่อให้อธิบายภัยดังกล่าว และให้ทำนายดวงชะตาของบุตรนาง เมื่อเสร็จการแล้ว นอสตราเดมัสหวั่นเกรงอย่างยิ่งว่า ศีรษะจะหลุดจากบ่าเพราะคำทำนายที่ให้ไป แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิต (Counselor) และหมอหลวง (Physician-in-Ordinary) ประจำพระเจ้าชาร์ลที่ 9 (Charles IX) บุตรผู้เยาว์ของแคทเธอรีน เขาดำรงตำแหน่งนี้จนเขาตายในปี 1566[27]

อนึ่ง มีเรื่องร่ำลือเกี่ยวกับชีวิตของนอสตราเดมัสว่า เขากลัวอยู่เสมอว่า ชีวิตจะไม่เป็นสุข เพราะจะถูกศาลพระ (Inquisition) จับไปลงโทษฐานเผยแพร่ความเชื่อนอกรีต แต่ผลงานของเขาทั้งที่เป็นคำพยากรณ์และงานเขียนด้านโหราศาสตร์ก็ไม่เคยถูกเพ่งเล็ง และอันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระศาสนจักรนั้นอยู่ในขั้นดีมากมาตลอด[28] แม้เขาจะถูกจำคุกที่เมืองมารีญาน (Marignane) เมื่อปลายปี 1561 ก็เพียงเพราะเผยแพร่กาลานุกรมสำหรับปี 1562 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมุขนายกก่อนตามความในพระราชกฤษฎีกาที่ใช้อยู่ในเวลานั้น[29]

ตาย

นอสตราเดมัสได้รับความทรมานจากโรคเกาต์มาหลายปี ในบั้นปลายชีวิตเริ่มเคลื่อนไหวลำบาก จนโรคนั้นลุกลามกลายเป็นอาการบวมน้ำหรือท้องมานไป ปลายเดือนมิถุนายน 1566 เขาจึงเรียกทนายความประจำตัวมาเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ากว่า 3,444 คราวน์ (ราว 300,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน) พร้อมหนี้สินพ่วงมาด้วยเล็กน้อย ให้แก่ภริยาเขาระหว่างที่ยังมิได้สมรสใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนรอนเลี้ยงบุตรหญิงบุตรชายต่อไป[30] ครั้นบ่ายวันที่ 1 กรกฎาคม 1566 ร่ำลือกันว่า เขาบอกฌ็อง เดอ ชาวีญี (Jean de Chavigny) เลขานุการส่วนตัวของเขา ว่า "พออาทิตย์ขึ้นแล้ว เจ้าจะไม่เห็นข้ามีชีวิตอีก" วันรุ่งขึ้น มีรายงานว่า เขาถูกพบเป็นศพนอนอยู่บนพื้นถัดจากเตียงและตั่งของเขา[31][20]

ศพของเขาฝังไว้ที่โบสถ์คณะฟรันซิสกันในเมืองซาลง (Salon) ซึ่งบัดนี้บางส่วนกลายเป็นภัตตาคารชื่อ ลาโบรเชอรี (La Brocherie) แล้ว แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการขุดศพเขาขึ้นไปฝังที่ป่าช้าโบสถ์แซ็ง-ลอแร็ง (Saint-Laurent) แทน ศพของเขาอยู่ที่นั้นมาตราบทุกวันนี้[32]