การบูชานะ ของ นะ_(วิญญาณ)

รูปแบบของศาลนะ

ในประเทศพม่า การบูชาหรือประเพณีเกี่ยวกับนะมีตลอดทั้งปี แต่งานเทศกาลเกี่ยวกับนะที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด คือ หมู่บ้านต่องปะโยง ในเขตมัณฑะเลย์ เป็นเวลา 6 วัน ในเดือนสิงหาคมของทุกปี เนื่องจากนะสองพี่น้อง หรือ ชเวปยินยีดอ และชเวปยินนองดอ เคยอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเชื้อสายแขกผสมพม่า ถูกสั่งประหาร ณ ที่แห่งนี้ เนื่องจากละเลยต่อการขนอิฐสร้างพุทธเจดีย์ตามพระราชบัญชา และกลายเป็นผีมาหลอกหลอนพระเจ้าอโนรธา พระองค์จึงมีบัญชาให้ตั้งศาลบูชาไว้ ณ ที่แห่งนี้[6]

คนทรงนะ มีชื่อเรียกว่า "นะกะด่อ" (နတ်ကတော်; nat kadaws) นะกะด่อจะนับถือนะชเวปยินยีดอเป็นเสมือนนะครู นะกะด่อจากทั่วพม่าจะเดินทางมาที่นี่เพื่อบูชาปีละครั้ง ผู้ที่เป็นนะกะด่อจะเป็นผู้ที่ชาวพม่าให้ความเคารพในทุกชนชั้น และความเชื่อจะถูกส่งต่อมาเป็นทอด ๆ หากพ่อแม่ศรัทธานะกะด่อคนใด ลูกหลานก็จะถูกพามาด้วยและมอบตัวเป็นศิษย์

นะกะด่อ ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างนะกับมนุษย์ ซึ่งนะกะด่อแต่ละคนสามารถเข้าทรงนะได้หลายตน ไม่จำกัดเฉพาะตนใดตนหนึ่ง แต่การที่จะเข้าทรงนะตนใด ก็จะมีการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป แต่เดิมผู้ที่หน้าที่เป็นนะกะด่อจะเป็นผู้หญิง และได้รับการนับถือว่าเป็นภรรยาของนะ และสืบทอดกันทางสายเลือดจากแม่สู่ลูก ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงได้มีนะกะด่อที่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีจำนวนน้อย ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 นะกะด่อที่เป็นเพศที่สามจึงปรากฏ และมีมากขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทั้งที่ในสังคมพม่าในยุคนั้นยังไม่ค่อยเปิดรับมากกับสภาพเพศที่สาม การที่บุคคลเพศที่สามได้เป็นนะกะด่อเนื่องจากเชื่อว่าบุคคลที่มีเพศสภาพเช่นนี้ เหมาะสมที่สุดที่เป็นผู้ติดต่อกันระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งวิญญาณ ซึ่งในปัจจุบันนะกะด่อที่เป็นเพศที่สามได้รับความนิยมมากกว่านะกะด่อที่เป็นชายจริงหญิงแท้เสียอีก

ก่อนการเข้าทรงจะมีการจัดเลี้ยงอาหารต่อผู้มาร่วมงานและบูชาพระรัตนตรัย และบูชานะโดยเครื่องบูชาหลัก คือ มะพร้าว เนื่องจากมินมหาคีรีนะ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ยังเขาโปปา ตายเพราะถูกไฟคลอกในรัชสมัยพระเจ้าจานสิตา น้ำมะพร้าวมีคุณสมบัติเย็นและช่วยดับร้อนอันจะทำให้นะพึงพอใจ นอกจากนี้ยังมีกล้วยและธูปเทียนต่าง ๆ

ในหมู่บ้านต่องปะโยงจะมีปะรำพิธีสำหรับนะกะด่อแต่ละคนที่จะมาเข้าทรง โดยจัดเวียนกันเป็นรอบ ๆ เมื่อถึงรอบของใคร ผู้นำก็จะพามารำยังปะรำพิธีซึ่งมีปี่พาทย์ประโคมรออยู่แล้ว ซึ่งบริเวณที่จัดงานจะเป็นงานนอกกำแพงวัด เนื่องจากเป็นการเข้าทรงนะนอก ซึ่งมีถิ่นฐานนอกกำแพงวัดเจดีย์ชเวซีโกน

การเข้าทรงนะ นะกะด่อจะฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงเพลงโดยมีสาวกหรือผู้ศรัทธาติดตามไป ช่วงที่สำคัญคือ นะกะด่อจะโปรยเงินแจกจ่ายผู้ที่ยืนดู ซึ่งสามารถใช้ความมั่งคั่งของนะกะด่อเป็นเครื่องวัดความมีชื่อเสียงของนะกะด่อผู้นั้นได้ และก็มักมีการเข้าทรงเกิดขึ้นมากมายในบรรดาผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งที่ไม่ใช่นะกะด่อ

แม้ผ่านกาลเวลามานานกว่าสองพันปีและถูกท้าทายความเชื่อ ทั้งเคยมีความพยายามที่จะยกเลิกการบูชาและเชื่อเรื่องนะ แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีชาวพม่ากว่าร้อยละ 80 ที่ยังคงนับถือนะอยู่[7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นะ_(วิญญาณ) http://www.arts.ualberta.ca/axismundi/2000/syncret... http://arcanecandy.com/2010/08/20/tropical-punch-t... http://arcanecandy.com/2010/08/21/tropical-punch-t... http://www.junjaowka.com/webboard/showthread.php?t... http://minthatheater.com http://www.mmtimes.com/no430/n017.htm http://ngm.nationalgeographic.com/ngm/0605/feature... http://www.studenttraveler.com/mod-Pagesetter-view... http://www.sublimefrequencies.com/item.asp?Item_id... http://asia.msu.edu/seasia/Burma/religion.html#ani...