นามสกุลในประเทศไทย ของ นามสกุล


ดูบทความหลักที่: ชื่อบุคคลไทย

ก่อนหน้านี้ กฎหมายไทยกำหนดให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องเปลี่ยนมาใช้นามสกุลสามี แต่ในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกใช้นามสกุลของตัวเองหรือของสามีได้ ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่สตรีตรงตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ระบุไว้


เดิมทีคนไทยไม่ได้มีนามสกุล[1] จะมีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัวที่เรียกว่า นามสกุลพระราชทานจำนวน 6,432 นามสกุล และหลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้น นามสกุลแรกของประเทศไทย คือ สุขุม

รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลไว้ทั้งหมด 6,464 นามสกุล แบ่งเป็น

  • นามสกุลตามสมุดทะเบียน 6,439 นามสกุล (ในสมุดทะเบียนลงลำดับที่นามสกุลที่ได้พระราชทานไปเพียง 6432 นามสกุล)
  • นามสกุลพิเศษ 1 นามสกุล คือ นามสกุล ณ พิศณุโลก
  • นามสกุลสำหรับราชสกุลรัชกาลที่ 4 อีก 24 นามสกุล เช่น กฤดากร เกษมศรี จักรพันธุ์ จิตรพงศ์ ชยางกูร ชุมพล ทวีวงศ์ ทองแถม ดิศกุล เทวกุล ศรีธวัช สวัสดิกุล สวัสดิรัตน์


เมื่อมีพระราชบัญญัติขนามนามสกุลฯ ขึ้น ราษฎรไทยจึงต้องตั้งนามสกุลสำหรับใช้ในครอบครัวหรือตระกูลของตน โดยมีความนิยมหลายอย่างด้วยกัน ดังนี้

  • ตั้งตามชื่อของบรรพบุรุษ (ปู่ ย่า ตา หรือยาย)
  • ข้าราชการที่มีราชทินนาม มักจะนำราชทินนามมาตั้งเป็นนามสกุลของตน เช่น หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ใช้นามสกุล "พิบูลสงคราม"
  • ตั้งตามสถานชื่อตำบลที่อยู่อาศัย
  • ชาวไทยเชื้อสายจีนอาจแปลความหมายจาก "แซ่" ของตน หรือใช้คำว่าแซ่นำหน้าชื่อแซ่ หรือใช้ชื่อแซ่นำหน้า หรือสอดแทรกไว้ในนามสกุล
  • หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ใช้นามราชสกุลของตนเป็นนามสกุล แต่ลูกของหม่อมหลวงและต่อไปเป็นหลาน เหลน ใช้นามราชสกุลโดยลำพังไม่ได้ ต้องมีคำว่า "ณ อยุธยา" ต่อท้าย สำหรับเชื้อพระวงศ์[ต้องการอ้างอิง]


พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุลไว้ว่า

มาตรา ๘ ชื่อสกุลต้อง

(๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามของพระราชินี

(๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

(๓) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

(๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

(๕) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล