ประวัติศาสตร์ ของ นายกรัฐมนตรีสวีเดน

ก่อนปี พ.ศ. 2419 เมื่อมีการสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้น สวีเดนไม่มีผู้นำรัฐบาลแยกเป็นเอกเทศจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ปรากฏว่าตำแหน่งองคมนตรีผู้มีอาวุโสสูงสุดในบรรดาองคมนตรีทั้งหมด (ในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตำแหน่งดังกล่าวก็คืออัครมหาเสนาบดี; Lord High Chancellor) มีลักษณะคล้ายคลึงกับตำแหน่งผู้นำคณะรัฐบาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงยุคแห่งเสรีภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2261 ถึง พ.ศ. 2315 ที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนลงไปมาก ส่วนตำแหน่งประธานองคมนตรีสภาคือตำแหน่งทางการเมืองที่ทรงอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น

หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกลไกของรัฐบาล พ.ศ. 2352 (Instrument of Government of 1809) ได้มีการจัดตั้งตำแหน่งขึ้นมาสองตำแหน่งคือ นายกรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม (สวีเดน: Justitiestatsminister) และ นายกรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ (สวีเดน: Utrikesstatsminister) โดยที่ตำแหน่งทั้งสองมีอำนาจจำกัดอยู่แค่งานราชการตามกระทรวงที่ตนรับผิดชอบ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2419 ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองที่มีอยู่เดิมจึงถูกแปลงไปเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยที่การเรียกขานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังคงใช้คำว่า เอ็กเซิลเลนซี (Excellency) ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวในรัฐบาลสวีเดนที่ใช้คำเรียกขานเช่นนี้ร่วมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4][5]

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา สวีเดนนำหลักการด้านรัฐสภามาบังคับใช้ ส่งผลให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Councillors of State; ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งคณะรัฐมนตรี) ตามพระราชอัธยาศัยถูกยกเลิก และกลไกการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจึงเปลี่ยนมาเป็นการลงคะแนนสนับสนุนโดยสมาชิกรัฐสภาแทน ทั้งนี้เมื่อเวลาล่วงเลยไป ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้กลายมาเป็นตำแหน่งซึ่งใช้พระราชอำนาจแทนพระมหากษัตริย์ในทางพฤตินัย อย่างไรก็ตามคำที่ใช้เรียกรัฐบาลในช่วงเวลานี้ยังคงเป็นคำว่า Kungl. Maj:t ซึ่งเป็นคำย่อของ Kunglig Majestät แปลว่า พระเจ้าอยู่หัว ในภาษาสวีเดน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 อำนาจของฝ่ายบริหารมีกลไกการบังคับใช้ผ่านสภาองคมนตรีหรือ คิงอินเคาน์ซิล (คล้ายคลึงกับกลไก ควีนอินเคาน์ซิล ของเครือจักรภพ) การปฏิรูปรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ยังได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ากลไกของรัฐบาลฉบับใหม่ ซึ่งได้มีการสถาปนาระบบรัฐสภาในทางนิตินัยและคณะรัฐมนตรีขึ้น โดยที่อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับใช้ผ่านพระมหากษัตริย์อีกต่อไป

ใกล้เคียง

นายกรัฐมนตรีไทย นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายกรัฐมนตรีจีน นายกรัฐมนตรีเบลเยียม นายกรัฐมนตรี