คำประพันธ์ ของ นิราศ

คำประพันธ์ที่ใช้แต่งนิราศนั้นมีด้วยกันหลากหลาย ขึ้นกับความนิยมของกวีผู้แต่งนิราศเรื่องนั้นๆ ในสมัยอยุธยา มักจะมีนิราศคำโคลงมากกว่าอย่างอื่นๆ ส่วนนิราศคำฉันท์นั้นปรากฏน้อย เช่น นิราศษีดา และบุณโณวาทคำฉันท์ ขณะเดียวกันนิราศที่แต่งด้วยกาพย์ห่อโคลง เช่น กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา

สม้ยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศส่วนใหญ่ยังนิยมแต่งด้วยคำโคลงมากกว่าอย่างอื่น เช่น นิราศนรินทร์ ของนายนรินทรธิเบศร์ ทว่าในสมัยต่อๆ มา เริ่มมีความนิยมแต่งนิราศคำกลอนมากขึ้น โดยเฉพาะนิราศของสุนทรภู่ นั้นส่วนใหญ่แต่งด้วยกลอนแปด หรือกลอนเพลงยาว หรือกลอนตลาด สุดแต่จะเรียก และกล่าวได้ว่า สุนทรภู่ เป็นกวีที่แต่งนิราศคำกลอนไว้มากที่สุดด้วย (สุนทรภู่มีนิราศคำโคลงหนึ่งเรื่อง คือนิราศสุพรรณ)

อย่างไรก็ตาม นิราศยังสามารถแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทอื่นๆ ได้ เช่น ลิลิต คำกาพย์ หรือแม้กระทั่งร้อยแก้ว สำหรับนิราศร้อยแก้วนั้น ปรากฏน้อยมาก เช่น นิราศนครวัด พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

นิราศเป็นการเรียกวรรณกรรมตามลักษณะของเนื้อหา มิใช่เป็นการบัญญัติหรือกำหนดกะเกณฑ์ ผู้อ่านจึงไม่ควรยึดถือเคร่งครัด ว่าวรรณกรรมเรื่องใดเป็นนิราศหรือไม่ เนื่องจากนิราศเรื่องหนึ่งๆ จึงอาจมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากนิราศเรื่องอื่นๆ ก็ได้ เช่น เล่าถึงการเดินทาง แต่มิได้พรรณนาถึงการพลัดพราก เป็นต้น วรรณคดีบางเรื่องยังอาจระบุได้ไม่ถนัด ว่าเป็นนิราศหรือไม่ เช่น นิราศษีดา ที่นำเรื่องราวในรามเกียรติ์มาแต่งเป็นทำนองนิราศ ทว่าผู้แต่งมิได้มีประสบการณ์ร่วมในเนื้อหานั้นๆ