น็อกติลูเซนต์
น็อกติลูเซนต์

น็อกติลูเซนต์

น็อกติลูเซนต์ (อังกฤษ: noctilucent) หรือ เมฆโพลาร์มีโซสเฟียร์ (polar mesospheric clouds)[1] เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของโลกชั้นบน เป็นเมฆลักษณะเป็นริ้วคล้ายคลื่น ไม่มีรูปร่างแน่นอน[2] โดยทั่วไปมีสีขาวถึงน้ำเงินอ่อน[3] แต่บางครั้งมีสีแดงหรือเขียว[4] เมฆชนิดนี้มักพบในพื้นที่ละติจูดระหว่าง 50° และ 70° เหนือและใต้เส้นศูนย์สูตร สามารถพบเห็นได้ในช่วงฤดูร้อนและดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าของผู้สังเกตการณ์ แต่ยังคงมีแสงอาทิตย์สะท้อนบนก้อนเมฆอยู่ น็อกติลูเซนต์เป็นคำในภาษาละติน แปลว่า ส่องสว่างตอนกลางคืน[5] มีอักษรย่อคือ NLC หรือ PMC[6]น็อกติลูเซนต์เป็นเมฆที่อยู่สูงที่สุดในชั้นบรรยากาศของโลก ก่อตัวในชั้นมีโซสเฟียร์ที่ระดับความสูง 76,000–85,000 เมตร (250,000–280,000 ฟุต) เมฆชนิดนี้เกิดจากผลึกน้ำแข็งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100 นาโนเมตร[7] เมฆชนิดนี้ต่างจากเมฆในชั้นโทรโพสเฟียร์ตรงที่ก่อตัวจากไอน้ำโดยตรงร่วมกับอนุภาคของฝุ่น[8][9] ที่มาของฝุ่นและไอน้ำยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าฝุ่นมาจากสะเก็ดดาวขนาดเล็กหรือมาจากชั้นโทรโพสเฟียร์ ในขณะที่ไอน้ำอาจมาจากช่องว่างของโทรโพพอสหรือเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างมีเทนกับอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลในชั้นสตราโทสเฟียร์ เนื่องจากชั้นมีโซสเฟียร์มีความชื้นน้อยมาก[10] สาเหตุที่น็อกติลูเซนต์มักพบในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชั้นมีโซสเฟียร์จะมีอากาศเย็นที่สุด ทำให้ไอน้ำเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า −120 °ซ[6] ในซีกโลกเหนือมักเกิดช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม และกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ในซีกโลกใต้[3] และพบเห็นได้ช่วงสนธยาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและตก โดยจะมองเห็นได้ดีที่สุดเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าเส้นขอบฟ้าประมาณ 6° ถึง 16°[11]น็อกติลูเซนต์เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีคำอธิบายชัดเจน มีการบันทึกถึงการพบเห็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1885 สองปีต่อมา ออตโต เจสเซอทำการศึกษาเมฆชนิดนี้และตั้งชื่อว่า noctilucent clouds[12] และเชื่อว่าเกิดจากฝุ่นภูเขาไฟกรากะตัวที่ปะทุเมื่อสี่ปีก่อน[13] อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ถูกหักล้างในปี ค.ศ. 1926[14] ช่วงทศวรรษ 1960 มีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างอากาศเย็นจัดกับการก่อตัวของเมฆเมื่อมีการใช้จรวจในการศึกษาชั้นมีโซเฟียร์[15] การศึกษาปัจจุบันพบว่าการปล่อยก๊าซมีเทนที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดเมฆน็อกติลูเซนต์มากขึ้น[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: น็อกติลูเซนต์ http://www.windows.ucar.edu/tour/link=/earth/Atmos... //doi.org/10.1016%2Fj.jastp.2009.10.007 http://verplant.org/history-geophysics/Diurnal_V/M... http://www.atoptics.co.uk/highsky/nlc1.htm https://www.nytimes.com/2007/04/24/science/24cloud... https://www.smithsonianmag.com/smart-news/climate-... https://www.thoughtco.com/noctilucent-clouds-41495... https://ui.adsabs.harvard.edu/abs/2010JASTP..72...... https://science.nasa.gov/headlines/y2008/25aug_nlc... https://cloudatlas.wmo.int/noctilucent-clouds.html