ประวัติ ของ บริเวณร้องเพลงสวด

ในวัดคริสต์ศาสนายุคแรกบริเวณศักดิ์สิทธิ์จะสร้างติดกับทางเดินกลาง ส่วน “บริเวณร้องเพลงสวด” ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางเดินกลางและแยกจากกันโดยระเบียงเตี้ยๆ ที่เรียกว่า “cancelli” ที่มาเพี้ยนเป็น “chancel” (บริเวณพิธี) ในภาษาอังกฤษ การวิวัฒนาการของ “บริเวณร้องเพลงสวด” เป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาหลังจากการหยุดยั้งการไล่ประหัตประหารผู้นับถือคริสต์ศาสนาในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 และการขยายตัวระบบสำนักสงฆ์ คำว่า “choir” ใช้เป็นครั้งแรกโดยนักเขียนของคริสต์ศาสนจักรตะวันตก (Western Church) นักบุญอิสซิดอเรแห่งเซวิลล์ และนักบุญฮอนโนเรียสแห่งออทุน กล่าวว่าเป็นคำที่มาจากคำว่า “corona” (มงกุฎ) ซึ่งหมายถึงวงนักบวชหรือนักร้องเพลงสวดที่ล้อมรอบแท่นบูชาเหมือนมงกุฎ

เมื่อคำนี้เริ่มใช้กันก็มักจะใช้กับคำว่ายกพื้น (bema) ที่ยกสูงขึ้นมาตรงกลางทางเดินกลางซึ่งใช้เป็นที่นั่งของนักบวชผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้อื่นและเป็นที่ตั้งของแท่นอ่าน (lectern) สำหรับการอ่านพระคัมภีร์ การจัดลักษณะนี้ยังคงพบที่มหาวิหารซานตามาเรียมายอเรในกรุงโรม ต่อมาบริเวณร้องเพลงสวดก็ค่อยๆ เลื่อนออกไปด้านทางตะวันออกของวัดจนกระทั่งถึงที่ตั้งที่ใช้อยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน ในบางวัดบริเวณนี้ก็จะอยู่ในบริเวณมุขตะวันออก (apse) ทางด้านหลังของแท่นบูชา

ในมหาวิหารบางแห่งในยุโรป บริเวณร้องเพลงสวดหลังแท่นบูชาเอกเปิดออกไปทางตะวันออกไปสู่คูหาชาเปลที่อยู่ด้านหลังสุดของวัด (หมายเลข 10 บนผัง) การออกแบบก็เพื่อเป็นการใช้สอยในการขับเพลงสวดของภราดรนักบวชของสำนักสงฆ์หรือคณะนักบวชแคนนอน

แท่นเทศน์และแท่นอ่านก็มักจะเป็นสิ่งประกอบอีกอย่างหนึ่งของบริเวณนี้ และอาจจะมีแท่นอ่านที่วางโดดอยู่กลางบริเวณอีกแท่นหนึ่งที่หันไปทางบริเวณศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นแล้วก็อาจจะมีออร์แกน แต่บางครั้งออร์แกนก็จะตั้งอยู่ในส่วนอื่นของวัดเช่นเหนือประตูทางด้านตะวันตกหรือด้านข้างของทางเดินกลางเป็นต้น

ใกล้เคียง

บริเวณบรอดมันน์ บริเวณเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณกลางโบสถ์ บริเวณความกดอากาศต่ำ บริเวณแห้งแล้ง บริเวณร้องเพลงสวด บริเวณเวอร์นิเก บริเวณคริสต์ศาสนพิธี บริเวณเอช 2 บริเวณปาเลสไตน์