ประวัติ ของ บางกอกอารีนา

การออกแบบและจัดหาพื้นที่ก่อสร้าง

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553[6] โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอทางเลือกดำเนินการเกี่ยวกับสนามหลักที่ใช้แข่งขัน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ฟีฟ่ากำหนดความจุผู้ชมที่ 10,000-15,000 คน ต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในสามรูปแบบคือ การก่อสร้างสนามกีฬาขึ้นใหม่ โดยเลือกจากสองพื้นที่ ได้แก่ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และที่ดินบริเวณศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการของกรุงเทพมหานครที่เขตหนองจอก อีกรูปแบบหนึ่งคือการปรับปรุงสนามอินดอร์ สเตเดียม สนามกีฬาหัวหมาก กับอาคารกีฬานิมิบุตร กรีฑาสถานแห่งชาติ[7] โดยมีข้อสรุปว่า ให้ใช้ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง[8]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างสนามแห่งนี้ เป็นจำนวนเงิน 1,239 ล้านบาท[9] โดยกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้ออกแบบ รวมถึงศึกษาการใช้พื้นที่บริเวณสนาม[10] และลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อีเอ็มซี จำกัด(มหาชน)เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 [2] โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์แจ้งต่อฟีฟ่าว่า กรุงเทพมหานครกำหนดให้สนามแห่งนี้มีชื่อว่า บางกอกฟุตซอลอารีนา (Bangkok Futsal Arena)[11]

การก่อสร้างและการตรวจสอบ

บางกอกฟุตซอลอารีนาระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สนามแห่งนี้[3] โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 250 วันจากเวลาปกติ 500 วัน เป็นผลให้ต้องเร่งรัดการก่อสร้าง ด้วยการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง[12] มีการใช้วัสดุโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิการใช้เหล็กรับแรงดึงแทนการใช้สายเคเบิล เพื่อลดขั้นตอนการติดตั้งและการผลิต[13] การใช้คอนกรีตหล่อสำเร็จรูป แทนการหล่อคอนกรีตในเขตก่อสร้าง[14] รวมไปถึงการทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน เช่นการปูพื้นสนามพร้อมการทาสี การติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ในเวลาเดียวกับการก่อสร้าง[14] เป็นต้น

การก่อสร้างมีการตรวจประเมินจากคณะทำงานของฟีฟ่าเป็นระยะ ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ร่วมกับสนามอื่นๆ ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 อีกสามแห่ง มีผลเป็นที่น่าพอใจ[15] รวมถึงการตรวจสอบในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ผู้แทนจากฟีฟ่าแสดงความพอใจที่การก่อสร้างมีความคืบหน้า โดยจะต้องรอตรวจสอบความสมบูรณ์พร้อมของสนามในเดือนสิงหาคมอีกครั้ง[16] ในวันที่ 13 กันยายน นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการกีฬาวุฒิสภา คาดการณ์ว่าการก่อสร้างสนามอาจเสร็จสิ้นไม่ทันการแข่งขัน[17] อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครซึ่งรับผิดชอบงานก่อสร้างสนาม ก็เร่งการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง[12] โดยระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม คณะทำงานของฟีฟ่าเดินทางมาตรวจประเมินความพร้อมของสนามแข่งขันอีกครั้ง[18]

จนกระทั่งในวันที่ 5 ตุลาคม ฟีฟ่าประกาศเปลี่ยนแปลง กำหนดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 โดยให้ย้ายการแข่งขันในช่วงแรก ไปจัดที่อินดอร์ สเตเดียม ภายในสนามกีฬาหัวหมากแทน และเริ่มการแข่งขันที่บางกอกฟุตซอลอารีนาเป็นครั้งแรก ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน จนถึงนัดชิงชนะเลิศ[19] อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของฟีฟ่าจะประเมินความพร้อมใช้งานของสนามอีกครั้ง ในวันที่ 25 ตุลาคม[20] ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม มีการทดสอบระบบเสียงภายในสนาม รวมถึงติดตั้งจอภาพผลึกเหลวเพื่อเป็นป้ายบอกคะแนน บนหลังคาส่วนกลางเหนือสนาม ส่วนพื้นสนามอยู่ระหว่างการขนส่งมาถึงประเทศไทย ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากมีปัญหาที่ด่านกักกันสินค้าทางฝั่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะสามารถติดตั้งได้ราววันที่ 26 - 28 ตุลาคม และจะทำการทดสอบพื้นสนาม ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555[21]

พิธีเปิดสนาม

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดสนามบางกอกฟุตซอลอารีนา ซึ่งประกอบด้วยการบวงสรวงทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู หลังจากนั้น คณะทำงานผู้แทนฟีฟ่าเข้าตรวจสอบสนามในช่วงบ่าย ต่อมาในช่วงเย็น มีการจัดแข่งขันฟุตซอลนัดพิเศษ ระหว่างทีมบีเอ็มเอออลสตาร์ (รวมกรุงเทพมหานคร) กับทีมรวมสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างสนามยังไม่เสร็จเรียบร้อยและต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยคณะทำงานผู้แทนฟีฟ่า แจ้งให้ปรับปรุงห้องรับรองพิเศษและห้องน้ำ ส่วนงานก่อสร้างอยู่ระหว่างรอวัสดุปูพื้น[22]

ต่อมา กรุงเทพมหานครจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยมีการแสดงคอนเสิร์ต และจัดแข่งขันฟุตซอล ชิงถ้วยรางวัลหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ โดยเชิญประชาชนเข้าชมเต็มความจุของสนาม[23] พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บางกอก อารีนา [24]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: บางกอกอารีนา http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://www.bangkokfutsalarena.com http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.fifa.com/futsalworldcup/organisation/me... http://www.fifa.com/futsalworldcup/organisation/me...