ผลการตรวจสอบโดยฟีฟ่า ของ บางกอกอารีนา

ไฟล์:Bangkok Futsal Arena Model.jpgแบบจำลองสามมิติของสนาม

ต่อมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ขณะที่การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 กำลังแข่งขันเป็นวันสุดท้ายของนัดที่สอง คณะกรรมการฟุตซอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้ยกเลิกการใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีนาอย่างเป็นทางการ[5] เป็นผลให้ฟีฟ่าต้องย้ายสถานที่แข่งขันตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศ เฉพาะนัดที่กำหนดว่าจะแข่งขันที่สนามแห่งนี้ โดยเปลี่ยนไปใช้อาคารกีฬานิมิบุตร กรีฑาสถานแห่งชาติ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ[25] และอินดอร์ สเตเดียม สนามกีฬาหัวหมาก ในรอบรองชนะเลิศ กับนัดชิงชนะเลิศตามลำดับ[26] โดยฟีฟ่าชี้แจงว่าก่อนหน้านี้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเดินทางไปตรวจสอบความเรียบร้อยและความปลอดภัยทั่วไป ยังสถานที่ก่อสร้างจริงถึงสองครั้ง คือวันที่ 3 และ 5 พฤศจิกายนแล้ว[5]

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างคือกรุงเทพมหานคร[27] กำหนดไว้ตามโครงการว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 500 วัน ทว่าด้วยความล่าช้าในการก่อสร้าง ซึ่งอ้างถึงอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นเหตุในการปรับลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 250 วันเท่านั้น โดยปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เหล็กแทนสายเคเบิลเพื่อรับแรงดึง ใช้คอนกรีตซึ่งหล่อสำเร็จรูปมาแล้ว แทนการหล่อคอนกรีตขึ้นภายในสถานที่ก่อสร้าง ตลอดจนปฏิบัติงานหลายอย่างในบริเวณเดียวกันไปพร้อมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด[28] เป็นผลให้การก่อสร้างสนามแห่งนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด[1]

ด้านหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ กล่าวแสดงความเสียใจหลังทราบผลการตรวจสอบ เนื่องจากข้าราชการและฝ่ายการเมืองทำงานหนักมาตลอดหลายเดือน ส่วนตัวทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้จะเกิดอุทกภัยเป็นเวลา 4-5 เดือน แต่ก็ยังก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเชื่อว่าสามารถใช้แข่งขันได้อย่างไม่มีปัญหา ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น (7 พฤศจิกายน) เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากคณะทำงานของฟีฟ่าก็เดินทางมาเยี่ยมชมการทดสอบแล้ว ทั้งในส่วนพื้นสนามและความปลอดภัย โดยเฉพาะมีการนำประชาชนจำนวน 650 คนมาทดสอบความปลอดภัยของสนาม ตลอดจนปรับปรุงทางหนีไฟแล้ว ซึ่งเมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน) ตนเห็นว่าคณะทำงานของฟีฟ่าก็แสดงความพึงพอใจ[27]

แต่คาดว่าสาเหตุที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนามแห่งนี้ เพราะมีการสั่งให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างห้องทำงานวีไอพีเพิ่มเติม สำหรับเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าซึ่งจะเดินทางมาอีก 300 คน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็กำลังดำเนินการอยู่ ทว่ามีประกาศยกเลิกการใช้สนามออกมาเสียก่อน นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ยังตัดพ้อว่า ฟีฟ่าไม่มีการแจ้งผลมาให้กรุงเทพมหานครทราบด้วยช่องทางติดต่อใดๆ ก็ตาม แม้แต่การโทรศัพท์มา เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองคู่สัญญาจัดการแข่งขัน จึงควรแจ้งมาที่ตนก่อนจะมีการแถลงข่าว เพราะทางกรุงเทพมหานครก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของฟีฟ่าทุกประการ[27]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: บางกอกอารีนา http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://bangkokfutsalarena.com/bangkok_futsal_arena... http://www.bangkokfutsalarena.com http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.bmafutsal2012.com/index.php?option=com_... http://www.fifa.com/futsalworldcup/organisation/me... http://www.fifa.com/futsalworldcup/organisation/me...