บาร์ลามและโยซาฟัต
บาร์ลามและโยซาฟัต

บาร์ลามและโยซาฟัต

บาร์ลามและโยซาฟัต[1] (ละติน: Barlamus et Iosaphatus) เป็นตำนานมรณสักขีและนักบุญในศาสนาคริสต์ เรื่องราวมีที่มาจากพุทธประวัติของพระโคตมพุทธเจ้า[2] โดยเนื้อหาเป็นเรื่องราวของกษัตริย์อินเดียนามพระเจ้าอาเบนเนอร์ (Abenner) หรืออาเวเนียร์ (Avenier) ที่ข่มเหงรังแกโบสถ์คริสต์ในอาณาจักรของตน ทว่าเมื่อพระองค์มีพระราชโอรสคือเจ้าชายโยซาฟัต (Josaphat) โหรหลวงกราบทูลว่าพระราชโอรสพระองค์นี้จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ เมื่อทรงทราบความเช่นนั้นพระองค์จึงจองจำเจ้าชายโยซาฟัตแต่ในรั้วในวังมิให้ออกไปพบเห็นสิ่งใด แต่ครั้นโยซาฟัตได้พบกับนักบุญบาร์ลาม (Barlaam) ซึ่งเป็นนักพรต เจ้าชายจึงค้นพบสัจธรรมแล้วเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และหลังเจ้าชายตกระกำลำบากมานาน องค์กษัตริย์ทรงยอมรับความเชื่อแล้วสละราชสมบัติแก่เจ้าชายโยซาฟัตเพื่อออกบำเพ็ญพรตในทะเลทราย ในท้ายที่สุดโยซาฟัตสละราชสมบัติแก่เหล่าอำมาตย์แล้วออกเดินทางไปกับนักบุญบาร์ลามซึ่งเป็นพระอาจารย์อย่างสันโดษ[3]เรื่องราวนี้ตกทอดมาจากพระคัมภีร์ศาสนาพุทธนิกายมหายานฉบับภาษาสันสกฤตช่วงศตวรรษที่ 2-4 สู่ฉบับลัทธิมาณีกี ก่อนตกทอดสู่กีตาบบีเลาฮัร วายูดาซัฟ (Kitab Bilawhar wa-Yudasaf) ซึ่งเป็นเอกสารภาษาอาหรับในแบกแดดเมื่อศตวรรษที่ 8 สุดท้ายจึงถ่ายทอดสู่แวดวงผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์และแพร่หลายสู่ยุโรป โดยชื่อ "โยซาฟัต" มาจากคำสันสกฤตว่า "โพธิสตฺตฺว"[4][5][6]มีการเฉลิมฉลองนักบุญบาร์ลามและโยซาฟัตในวันที่ 26 สิงหาคมของทุกปีตามปฏิทินอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์[7] และมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปีตามปฏิทินโรมัน[4]