ประวัติ ของ บีบีซีไทย

บีบีซีแผนกภาษาไทยก่อตั้งปี พ.ศ. 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานขณะนั้นคือนายอเล็ค อดัมส์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ขอคำปรึกษาไปยัง พระมนูเวทย์วิมลนาถ ทูตไทยประจำอังกฤษขณะนั้น แต่เงื่อนไขสำคัญที่บีบีซีภาคภาษาไทยต้องถือปฏิบัติ คือ เนื้อหาในการออกอากาศต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง จึงได้ออกอากาศครั้งแรกจากกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 ในเวลา 20.30-20.45 น.ตามเวลาในประเทศไทย

ระยุแรกรูปแบบรายการเป็นลักษณะ "จดหมายจากอังกฤษ" ดำเนินรายการโดยเสนาะ ตันบุญยืน และเสนาะ นิลกำแหง สัปดาห์และครั้ง ทุกวันอาทิตย์ และได้ขยายเวลาออกอากาศเป็นสัปดาห์ละ 3 วันในเวลาต่อมา เนื้อหารายการมีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในเมืองไทย ต่อมาในปี 2490 บีบีซีได้เริ่มระบบทำสัญญาว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลา ปรับปรุงเนื้อหารายการเป็นการเสนอข่าว บทวิจารณ์และรายงานสารคดี

หลังจากนั้น 2 ปี ได้รับการประสานงานจากกรมโฆษณา หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกงานกับบีบีซี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2500-2501 มีการออกอากาศเป็นภาษาลาว 15 นาที เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในปี พ.ศ. 2489 บีบีซีแผนกภาษาไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แผนกภาษาสยาม" จนถึงปี 2492 กระทั่งปี 2492 จึงกลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้งหนึ่ง

กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมีคำสั่งให้ยุติบีบีซีแผนกภาษาไทยในวันที่ 5 มีนาคม 2503 เนื่องจากเศรษฐกิจทางภาคพื้นยุโรปตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองอย่างหนัก แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีนั้น บีบีซีแผนกภาษาไทยจึงกลับมาออกอากาศอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษ วันละ 15 นาที ระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม

บีบีซีแผนกภาษาไทยได้กลับมาออกอากาศอีกครั้งใน เดือนมิถุนายน 2505 โดยกระจายเสียงวันละครึ่งชั่วโมง ซึ่งเพิ่มการออกอากาศในช่วงเช้าและค่ำ พร้อมทั้งมีการปรับรูปแบบรายการและความต้องการข่าวสารของผู้ฟังในประเทศไทยเป็นหลัก จนในปี พ.ศ. 2540 ได้ลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานบีบีซี แผนกภาษาไทยกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทยอย่างถาวร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543[5] แต่เนื่องจากมีการประเมินผลการออกอากาศของแผนกต่าง ๆ ทั้ง 43 ภาษา พบว่าจำนวนผู้ฟังในแผนกภาษาไทยมีอยู่น้อย และจำเป็นต้องใช้งบประมาณก้อนนี้กับภูมิภาคอื่นซึ่งความต้องการของผู้ฟังมีมากกว่าในประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้ยุติการออกอากาศภาคภาษาไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549[6] จน 10 กรกฎาคม 2557 ได้กลับมาในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก เปิดตัววันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ภายใต้การสนับสนุนจากบีบีซีเวิลด์ ประเทศอังกฤษ[7] หลังจากนั้น 2 ปี ได้เปิดเว็บไซต์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนเงินทุนของรัฐบาลอังกฤษให้กับบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส[8]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บีบีซีไทย http://www.bbc.com/thai http://www.bbc.com/thai/aboutus.shtml http://www.bbc.com/thai/news/story/2005/10/051025_... http://www.bbc.com/thai/thailand-37997423 http://directory.mthai.com/detail/MD14630491.html http://news.mthai.com/hot-news/politics-news/46471... http://www.naewna.com/columnonline/20940?fb_commen... http://mcot-web.mcot.net/fm1005/content.php?id=53c... http://www.thaipost.net/?q=%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B... http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI...