ประวัติ ของ บึงพระราม

บึงพระรามเป็นหนองน้ำที่เก่าแก่ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นแอ่งน้ำที่อยู่กลางดอนที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายสายรอบเกาะเมืองอันได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักเป็นอาทิ[1] บ้างก็ว่าเกิดจากการขุดดินเพื่อนำไปสร้างวัดและวังต่าง ๆ จนบริเวณดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นบึงน้ำไป[3]

บึงพระรามถือว่ามีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นชุมชนเก่าที่มีขนาดใหญ่มาแต่อดีตกาลแล้ว[6] ดังจะพบได้จากโบราณสถานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดนก วัดหลังคาดำ วัดหลังคาขาว วัดสังขปัตถ์ วัดโพง วัดชุมแสง พระที่นั่งเย็น วัดไตรตรึงษ์ วัดราชบูรณะ วัดธรรมิกราช วัดมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ ลานหน้าจักรวรรดิ และอยุธยามหาปราสาท[1][3][5] นอกจากนี้ยังมีวัดที่ไม่ปรากฏซากแล้ว เช่น วัดสัตตบรรณ และวัดจันทร์ เป็นต้น[5] ในอดีตถือว่าพื้นที่โดยรอบบึงพระรามนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์[1] จากเอกสารของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือวันวลิต วานิชชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบึงพระรามตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาว่า ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาคือพระเจ้าอู่นั้นเป็นพระโอรสพระเจ้ากรุงจีนที่ถูกเนรเทศเพราะทำกรรมชั่วไว้มาก พระองค์จึงเดินทางเพื่อหาภูมิสถานเพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ จนพบเกาะเมืองอยุธยาที่ชัยภูมิดีแต่กลับไร้คนอยู่อาศัย พระเจ้าอู่ได้พบฤๅษีตนหนึ่ง ที่ต่อมาฤๅษีตนนั้นได้อธิบายความว่าที่เมืองไร้คนก็เป็นเพราะมังกรในหนองโสนพ่นน้ำลายพิษจนคนตายทั้งเมือง หากจะฆ่ามังกรให้ได้จะต้องไขปัญหาของฤๅษีให้ครบทั้งสามข้อ ซึ่งพระเจ้าอู่ก็ทรงทำได้ครบ ฤๅษีจึงบอกวิธีกำจัดมังกรคือต้องหาฤๅษีที่มีลักษณะเดียวกับตนโยนลงหนองโสน แต่พระเจ้าอู่ก็ทรงหาฤๅษีลักษณะดังกล่าวไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาทั้งสองเดินทางไปถึงหนองน้ำ พระเจ้าอู่ก็ทรงเหวี่ยงฤๅษีตนนี้ลงไปในหนอง มังกรก็ไม่โผล่ขึ้นมาอีก และเมืองก็ปลอดจากโรคระบาด[2] สุจิตต์ วงษ์เทศอธิบายว่า มังกรพ่นพิษน่าจะสื่อถึงกาฬโรค[1] ส่วนกำพล จำปาพันธ์ว่ามังกร (คือพญานาค) และฤๅษี (คือพราหมณ์) น่าจะสื่อถึงขอม ที่ไม่สนับสนุนให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มาตั้งถิ่นฐานที่นี่จนเกิดการกระทบกระทั่งกัน[5]

บึงพระรามถือเป็นหนึ่งในความสามารถของชาวกรุงศรีอยุธยาด้านการจัดการน้ำ โดยเกาะเมืองจะมีโครงสร้างในการระบายน้ำคือคลองสายต่าง ๆ โดยคลองจะทำหน้าที่ชักน้ำเข้าไปยังบึงพระรามและบึงต่าง ๆ ภายในเกาะเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คน โดยจะมีการก่อสร้างประตูน้ำ หากถึงฤดูฝนก็จะมีการเปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านคลองสายต่าง ๆ บนเกาะ หากถึงฤดูน้ำหลากก็จะปิดประตูน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยบนเกาะเมือง และยามฤดูแล้งก็จะกักเก็บน้ำในบึงไว้ใช้ โดยมีคลองไหลเข้าเกาะเมือง 4 สาย คลองบางสายก็จะชักน้ำไปหล่อเลี้ยงบึงพระรามมิให้เหือดแห้ง และมีคลองระบายน้ำออกจากเกาะเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้อีก 6 สาย[7]