ความเชื่อของชาวบ้านกับประเพณีบุญบั้งไฟ ของ บุญบั้งไฟ

ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ และโลกเทมนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน นอกจากนี้ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ เรื่องพญาคันคาก หรือคางคก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์

ความหมายของบั้งไฟคำว่า “บั้งไฟ” ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า “บ้องไฟ” แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า”บั้งไฟ”ดังที่ เจริญชัย ดงไพโรจน์ ได้อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสองไว้ว่า บั้งหมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง สำหรับใส่น้ำดื่ม หรือบั้งข้าวหลาม เป็นต้น

ส่วนคำว่า บ้อง หมายถึง สิ่งของใด ๆ ก็ได้ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้ากันได้ ส่วนนอกเรียกว่า บ้อง ส่วนในหรือสิ่งที่เอาไปสอดใสจะเป็นสิ่งใดก็ได้ เช่น บ้องมีด บ้องขวาน บ้องเสียม บ้องวัว บ้องควาย ดังนั้น คำว่า บั้งไฟ ในภาษาถิ่นอีสานจึงเรียกว่า บั้งไฟ ซึ่งหมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื่อ (ดินปืน) และเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เรียกว่า “บั้งไฟ” ในทัศนะของผู้วิจัย บั้งไฟ คือการนำเอากระบอกไม้ไผ่ เลาเหล็ก ท่อเอสลอน หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ช่างกำหนดไว้แล้วประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง บั้งไฟมีหลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย