การตีพิมพ์ ของ บุปผาในกุณฑีทอง

ภาพจากนิยายเรื่อง จินผิงเหมย์

เมื่อแรกเริ่ม จินผิงเหมย์ เขียนด้วยมือ จนช่วงปี ค.ศ. 1610 จึงได้มีการพิมพ์แกะไม้โบราณเป็นฉบับแรก[9] ครั้นในสมัยสาธารณรัฐจีน (民國-หมินกั๋ว) ปีที่ 20 พบว่า สมาคมจัดพิมพ์นิยายโบราณที่สูญหายแห่งเมืองเป่ย์ผิง (ปัจจุบันคือ กรุงปักกิ่ง) ได้จัดพิมพ์ จินผิงเหมย์ จำนวน 100 ตอน และสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชนจัดพิมพ์เผยแพร่อีกในปี ค.ศ. 1933 และ ค.ศ. 1956 ตามลำดับ[2]

หนังสือเรื่อง จินผิงเหมย์ หายาก ภายหลังเมื่อได้รับการยกย่องด้านวรรณศิลป์มากขึ้นกว่าการขนานนามว่าเป็นหนังสือต้องห้าม[2] จึงมีการจัดพิมพ์อย่างแพร่หลาย เช่น ฉบับจัดพิมพ์ที่กรุงไทเป ฉบับสำนักพิมพ์เซียงกั่งม่อไฮ่เหวินฮว่าจัดพิมพ์ที่ฮ่องกง ฉบับสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชนจัดพิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีจำนวน 100 ตอนเช่นเดียวกัน[2]

การตีพิมพ์ในประเทศไทย

ในประเทศไทยได้มีการตีพิมพ์เรื่อง จินผิงเหมย์ เป็นผลงานการแปลของโชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา "ยาขอบ" สาเหตุที่เขาแปล จินผิงเหมย์ เป็นภาษาไทยนั้น เนื่องจากขณะที่เขาป่วย เพื่อนผู้หนึ่งของเขาได้ส่งหนังสือ จินผิงเหมย์ ฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Chin P'ing Mei ซึ่งเบอร์นาร์ด เมียล (Bernard Miall) แปลจากฉบับภาษาเยอรมันที่ ฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn) แปลมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง มาให้[10] ยาขอบอ่านแล้วประทับใจมาก แม้ช่วงนั้นแพทย์สั่งห้ามเขาเขียนหนังสือก็ตาม เขากล่าวว่า "...หนังสือเล่มนั้นดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะอาศัยความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษาและความละมุนละไมตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น–เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน–บัดนี้ ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!"[11]

ยาขอบจึงแปลเป็นภาษาไทยจนจบ ใช้ชื่อว่า บุปผาในกุณฑีทอง และมอบให้สำนักพิมพ์วรรธนะพิบูลย์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2498 ไม่นานก่อนยาขอบจะเสียชีวิต[10] อย่างไรก็ตาม บุปผาในกุณฑีทอง ของยาขอบ หากเปรียบเทียบกับ จินผิงเหมย์ ฉบับภาษาจีน จะพบว่า เป็นเพียงบทที่ 1 ถึงบทที่ 26[10] จากทั้งหมด 100 บท กล่าวคือ เป็นเพียง 1 ใน 4 ของต้นฉบับภาษาจีน[12] นอกจากนี้ ยาขอบยังได้แบ่งตอนใหม่เป็น 45 ตอน และไม่ตรงตอนเดิมของฉบับภาษาจีน เนื้อหาส่วนใหญ่ตรงกับฉบับภาษาจีน แต่อาจคลาดเคลื่อนบ้าง เพราะยาขอบแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาเยอรมันและภาษาจีนเป็นทอด ๆ[13] จึงเป็นการแปลเอาความ และมีลักษณะเอาของเก่ามาเล่าใหม่[13] แต่ บุปผาในกุณฑีทอง ของยาขอบมีความพิเศษตรงที่หาคำประพันธ์ในวรรณคดีไทยที่คล้องจองกับเนื้อหาต้นฉบับมาแทรกไว้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นว่า ยาขอบมีความรู้ในวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี[12]

ยาขอบได้ถ่ายชื่อตัวละครในเรื่องซึ่งรับชื่อมาจากอักษรโรมัน จึงมีความคลาดเคลื่อนบ้าง นอกจากนี้ ยังได้แปลงชื่อจากสำเนียงกลางให้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะคนไทยในสมัยนั้นคุ้นเคยกับสำเนียงดังกล่าว ทั้งยาขอบยังทำชื่อให้เป็นไทย เช่น นางบัวคำ นางขลุ่ยหยก และนางดวงแข เป็นเหตุให้ชื่อตัวละครคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับภาษาจีน เช่น[14]

  • ซีเหมิน ชิ่ง ฉบับยาขอบใช้ว่า ไซหมึ่งเข่ง บ้างเรียก ตั้วกัวยิ้ง
  • พัน จินเหลียน ฉบับของยาขอบเรียกว่า พัวกิมเน้ย บ้างเรียก นางบัวคำ
  • หลี่ ผิงเอ๋อร์ ฉบับของยาขอบเรียกว่า นางลีปัง หรือ ฮวยลีปัง

นอกจากฉบับของยาขอบแล้ว ในระยะเวลาใกล้เคียงกันก็มีผู้แปลเรื่อง จินผิงเหมย์ เป็นภาษาไทยอีก คือ เนียน กูรมะโรหิต ภรรยาของสด กูรมะโรหิต ใช้ชื่อเรื่องว่า ดอกเหมยในแจกันทอง ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แสนสุข แต่แปลและพิมพ์ไม่จบ[15]