งานสร้าง ของ บุพเพสันนิวาส

บุพเพสันนิวาส เป็นละครรักที่อิงประวัติศาสตร์ ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สร้างจากบทประพันธ์ของรอมแพง ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552[9] สร้างโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้สร้างละครเห็นว่า นวนิยาย เนื้อเรื่องโดดเด่น สนุกสนาน ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างยุค ยังมีเรื่องรักโรแมนติก บวกกับการได้เจอประวัติศาสตร์มีชีวิต ผ่านการใช้ชีวิตกับบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคนั้น และยังได้เปิดลงโหวตว่า อยากให้นำนวนิยายเรื่องใดมาสร้างเป็นละคร ผลปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง จากนั้นได้ผู้เขียนบทคือ ศัลยาหรือ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ที่เคยเขียนบทละครดังอาทิ นางทาส, คู่กรรม, ดอกส้มสีทอง, ดอกโศก, แค้นเสน่หา, ภาพอาถรรพณ์ และ ทรายสีเพลิง นอกจากนั้นยังเคยเขียนบทละครย้อนยุคอย่าง รัตนโกสินทร์ และ สายโลหิต ศัลยาออกปากว่าเป็นบทที่ยากมาก เพราะถึงจะมีโครงบทประพันธ์ แต่ผู้เขียนบทต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งบทสนทนา ทำให้ละครมีเนื้อเรื่องที่ยาวกว่าหนังสือเสียอีก[10] หลายตัวละครในเรื่อง มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีเพียงเค้าโครงเท่านั้น ศัลยาจึงกำหนดขึ้นเองให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่มีข้อมูล ส่วนที่ยากอีกส่วนคือ ในการเขียนบทละครคือ การวางฉาก คำพูด การแก้ปัญหาความขัดแย้งในละคร กว่าจะเป็นบทละครเรื่องนี้ ต้องเขียนถึงร่างที่ 7 ซึ่งเป็นร่างสุดท้าย[11] โดยใช้เวลาเขียนบทละครนาน 2 ปี[10] และใช้เวลาถ่ายทำนาน 2 ปี[12] และเพื่อความสมจริงทางประวัติศาสตร์ ก็ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาคือ เผ่าทอง ทองเจือ และ วิโรจน์ ศรีสิทธิ์เสรีอมร[13]

บรอดคาซท์เลือกผู้กำกับการแสดงคือ ภวัต พนังคศิริ เพราะเห็นว่ากำกับละครได้หลายแนว และยังเคยทำละครย้อนยุคอย่าง บ่วง ภวัตมีความละเอียดในการถ่ายทำซึ่งเหมาะกับ บุพเพสันนิวาส ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยรายล้อมมากมาย สำหรับการคัดเลือกนักแสดงนั้น การเลือก ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ มาเป็น หมื่นสุนทรเทวา เพราะเห็นว่า มีบุคลิกดูอบอุ่นเข้ากับบุคลิกพระเอก สำหรับบทนี้ เคยวางไว้ว่าเป็น เจษฎาภรณ์ ผลดี ขณะที่ราณี แคมเปน มารับบทเกศสุรางค์และแม่หญิงการะเกด เพราะมองว่าน่าจะเล่นบทบาทเป็นหลายคน หลายบุคลิกได้[10] แต่ก่อนหน้านั้น บทนี้เคยวางตัวให้อารยา เอ ฮาร์เก็ต เป็นผู้แสดง[14] แต่ปฏิเสธไป เนื่องจากโตเกินบท ต่อมาผู้สร้างทาบทาม ณฐพร เตมีรักษ์ แต่ท้ายสุดบทนี้ตกเป็นของ ราณี แคมเปน[15] ละครเรื่องนี้ยังได้นักแสดงอาวุโส บรรเจิดศรี ยมาภัย ในวัย 93 ปี มาแสดงเรื่องนี้ เนื่องจากอยู่ในวัยชรา ผู้กำกับละครจึงบอกไม่ต้องท่องบท ใช้วิธีบอกบทเหมือนละครโทรทัศน์ยุคแรก ๆ[16]

ในการถ่ายทอดละครจากบทประพันธ์และบทละครมาเป็นละคร ผู้กำกับยังหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากบทละคร สิ่งที่ภวัต ว่ายากคือการตีความความรู้สึกและเป็นกลางที่สุดในฉากประวัติศาสตร์ โดยตนตั้งใจที่สร้างคาแร็กเตอร์ในตัวละคร ให้คนดูจำและสัมผัสได้ ถึงแม้ว่าจะมาเพียงนิดเดียว เช่น ฉากที่พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เถียงกันกลางท้องพระโรง หรือ อย่างฉากที่คลังสินค้าของอังกฤษถูกเผา ซึ่งในนวนิยายเขียนว่า ขุนเรือง หลวงสรศักดิ์ เป็นคนไปเผา จึงต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทำไมเผา ใครเป็นคนเผา ถึงแม้ในข้อมูลจะไม่ได้บอกว่าใครเผา แต่ก็ต้องหาเหตุผลให้คนดูยอมรับได้[17]

ในละครมีการจำลองฉากท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส

ในการเนรมิตฉากต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา มีการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างหนัก ทำเป็นสตอรีบอร์ดก่อนถ่ายทำ โดยสถานที่ถ่ายทำที่มีอยู่จริง เช่น กำแพงเมือง หรือวัดไชยวัฒนาราม ก็เก่าแก่ ต้องทำขึ้นใหม่ให้เหมือนบทประพันธ์ ส่วนฉากที่ไม่หลงเหลือแล้ว ก็สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคการสร้างภาพ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากที่ต้องสวยและถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เรือนไทย ที่เป็นฉากหลักก็ดูหรูหราเหมาะกับตำแหน่งของครอบครัวพระเอก มีข้าวของ ตามแบบยุคอยุธยาวางอยู่ นอกจากนั้น ในฉากที่สะท้อนวัฒนธรรม เช่น ฉากการทำขนมหวาน ก็เชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการทำขนมไทยโบราณมาทำให้ หรือฉากคุณหญิงจำปาสอนการเรือนการะเกด ก็ได้เห็นผักแกะสลักอลังการ นอกจากนั้นยังมีฉากที่ลงทุนแรงงานสร้างอย่างมากเช่น ฉากตลาดจีน ที่สร้างทั้งตลาดขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำจริงฉากเดียว ใช้เวลาถ่ายในสตูดิโอ 2 วัน แต่ออกมาเพียง 2 นาที รวมถึงฉากท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ที่ทางค่ายตั้งใจสร้างออกมาให้สวยเหมือนภาพในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เรียนกัน สถานที่ถ่ายทำในเรื่องฉากอื่น เช่น เมืองโบราณ ฉากในเรือ พายเรือ มีการสร้างท่าน้ำขึ้นมาใหม่ในช่อง 3 หนองแขม[12]

ส่วนเครื่องแต่งกายตัวละคร ผู้ออกแบบชุดแต่งกายคือ กิจจา ลาโพธิ์ ที่เคยออกแบบให้ละครเรื่อง ขุนศึก, ลูกทาส, ข้าบดินทร์ กิจจาที่ได้ออกแบบจากการค้นคว้าข้อมูลจากบันทึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม พงศาวดาร ภาพเขียนจิตรกรรม สมุดข่อย สมุดไทย หรือแม้แต่ตู้พระธรรมเขียนลายทองเก็บหนังสือใบลาน[18] โดยได้ออกแบบใหม่หมดตั้งแต่สี ลายผ้า เครื่องประดับจนถึงหัวเข็มขัด ตามบุคลิกตัวละครและตามยศศักดิ์[10] ผู้หญิงใส่สไบ ใส่เครื่องทอง มีทั้งโจงกระเบน เสื้อคอตั้ง เสื้อแขนกระบอก การแต่งกายในวาระต่าง ๆ ด้วย มีการออกแบบลายผ้าขึ้นมาใหม่ และชุดแต่งงานเครื่องทอง นอกจากนี้ ทรงผมแต่ละคนก็อ้างอิงจากทรงผมจริงสมัยอยุธยา[12]

ดนตรีประกอบมีทั้งขลุ่ย ซออู้ ขิม ซึ่งได้ผู้เล่นดนตรีไทยฝีมือระดับครูมาทำดนตรีประกอบให้[12]

เนื่องจาก บุพเพสันนิวาส ประสบความสำเร็จอย่างสูงทำให้ช่อง 3 ประกาศทำ บุพเพสันนิวาส ฉบับพิเศษ ออกอากาศต่อเนื่องในวันที่ 12, 18 และ 19 เมษายน 2561 จำนวน 3 ตอน สำหรับฉบับพิเศษนี้เป็นการตัดต่อย่อจากฉบับเดิม เล่าเรื่องราวความรักที่เริ่มจากความเกลียดชังจนกลายเป็นความรักในมุมมองของการะเกดและพ่อเดช และเพิ่มภาพเบื้องหลังการถ่ายทำนานขึ้นกว่าเดิมด้วย[19][20]

หลังจากนั้น 1 เดือน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็นำ บุพเพสันนิวาส มารีรันซ้ำอีกครั้งในช่วงละครเย็น วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 19.05-20.05 น. และวันศุกร์ เวลา 18.45-19.45 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป การออกอากาศครั้งนี้ได้มีการตัดต่อเนื้อหาใหม่ทั้งหมดโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เปลี่ยนไตเติลเป็นคอนเซ็ปต์ สุริยัน-จันทรา พร้อมเรียบเรียงซาวน์ประกอบและเพิ่มฉากที่ถูกตัดออกไปในการออกอากาศครั้งแรก จนกลายเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด ใช้ชื่อว่า บุพเพสันนิวาส ฉบับจัดเต็ม หรือ บุพเพสันนิวาส ฉบับ Director's Cut [21]

ใกล้เคียง

บุพเพสันนิวาส บุพเพสันนิวาส 2 บุพเพร้อยร้าย บุพเพสันนิวาส (นวนิยาย) บุพเพหัวใจคนละฟากฟ้า บุพเพสันนิวาส (อัลบั้มเพลง) บุพเพสันนิวาส (แก้ความกำกวม) บุพเพสันนิวาส 2 (แก้ความกำกวม) บุญเพ็งหีบเหล็ก บุนเพ่ง

แหล่งที่มา

WikiPedia: บุพเพสันนิวาส http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795628 http://www.bbc.com/thai/thailand-43312574 http://www.bbc.com/thai/thailand-43413965 http://news.ch3thailand.com/entertainment/66703 http://news.ch3thailand.com/entertainment/99474 http://www.ch3thailand.com/%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B... http://www.ch3thailand.com/news/promote/11954 http://www.onbnews.com/post/13643 http://praew.com/people/157213.html http://praew.com/people/162818.html