ประวัติการก่อตั้งหมู่บ้าน ของ บ้านพร้าว

ความเป็นมาของบ้านพร้าว หรือบ้านป้าว (สันนิฐานว่าน่าจะมีต้นมะพร้าวขึ้นเยอะในตอนนั้น) ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง สมัยก่อนมีคนเร่ร่อนหาที่อยู่อาศัยได้มีคนหลายจำพวก ระเหเร่ร่อน ได้มาพบปะกัน คือคนญวนเหนือ คนยวนใต้ คนไทลื้อมี 4 ครอบครัว ได้พากันมาหาที่อยู่อาศัยสร้างหลักฐาน ได้มาพบปะกันที่ห้วยล้า ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะสร้างบ้านเรือน เพราะสะดวกสบายดี ติดกับลำห้วยน้ำล้าและเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืช ทำการเกษตร ใช้ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม ใช้อาบ จึงได้ตั้งรกราก สร้างบ้านแปงเมือง และทำมาหากิน ขึ้นราวประมาณปี พ.ศ. 2300 ซึ่งตรงกับรัชสมัยเจ้าหลวงอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองเมืองน่าน องค์ที่ 52 ของเมืองน่าน และเป็นองค์ที่ 2 ในราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ซึ่งครองเมืองน่าน ราว พ.ศ. 2297 - 2311 และตรงกับรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ ราวพ.ศ. 2275 - 2301 โดยมีครอบครัว 4 คือ

  • ครอบครัว พ่อเจ้าหลวงพรมวัง - แม่หลวงขวา
  • ครอบครัว พ่อหลวงต๊ะ - แม่หลวงผัด
  • ครอบครัว พ่อหลวงจันทร์ – แม่หลวงสุข
  • ครอบครัว พ่อหลวงไชย - แม่หลวงเพชร

ทั้ง 4 ครอบครัวได้อยู่รวมกันเป็น 2 บ้านคือบ้านป้าวเหนือ บ้านคาใต้ รวมเรียกบ้านป้าวบ้านคา ซึ่งมีทุ่งนากั้นเขตแดน ขณะนั้นไม่มีผู้ใหญ่บ้านปกครอง ปกติในการประชุมจะต้องเดินทางผ่านทุ่งนาไปประชุมร่วมกันกับหมู่บ้านไฮ่(บ้านสบบั่ว ในปัจจุบัน) ในทางศาสนาวัดวาอาราม ในวันศีลวันพระจะไปทำบุญร่วมกับบ้านไฮ่ ทุกครั้ง อยู่ต่อมาไม่นานทางบ้านป๊าว ก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทางราชการทางอำเภอได้มาแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน และการปกครองกันเองชาวบ้านพร้าว มีความปิติยินดีสุด ที่ทางอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านพร้าวเป็นคนขยันในการทำมาหากิน มีความสมานสามัคคีรักกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีความโอบอ้อมอารี ชอบค้าขายไล่วัวต่างขึ้นไปบ่อเกลือเอาเกลือมาขาย เอาผ้าทอไปแลกเกลือ แลกเปลี่ยนสินค้ามาขาย ประกอบอาชีพต่อไป

ในสมัยก่อนไม่มีนามสกุล ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการให้มีตั้งนามสกุล เหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 ได้มีการตั้งนามสกุลขึ้นทั่วประเทศไทย ซึ่งทางบ้านพร้าว ได้มีการประชุมในหมู่บ้านและให้ราษฎรในหมู่บ้านออกความคิดว่า จะเอานามสกุลอะไรช่วยออกความคิด ก็มีหลายคนออกข้อคิด ควรเอาชื่อพ่อชื่อแม่ทั้ง 4 ครอบครัวมาผสมพยัญชนะ มารวมกัน จึงเกิดมีนามสกุลขึ้นดังนี้

  • พ่อเจ้าหลวงพรมวัง – แม่หลวงขวา : ต้นนามสกุล พรมวังขวา
  • พ่อหลวงต๊ะ - แม่หลวงผัด : ต้นนามสกุล ต๊ะผัด
  • พ่อหลวงจันทร์ – แม่หลวงสุข : ต้นนามสกุล จันทรสุข
  • พ่อหลวงไชย - แม่หลวงเพชร : ต้นนามสกุล ไชยเพชร , ไชยเพ็ชร

นามสกุลของชาวบ้านพร้าว เกิดขึ้นใน 4 ตระกูลนี้เท่านั้น